ร่างกายของเราได้รับสิ่งแปลกปลอมมากมาย มีทั้งเชื้อโรค ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส พยาธิ ต่างๆ สารเคมีที่เจือปนอยู่ในอากาศที่เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ทางระบบหายใจ ทางระบบย่อยอาหาร หรือทางระบบหมุนเวียนเลือด โดยปกติร่างกายจะมีการป้องกัน และกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เรียกว่า ภูมิคุ้มกัน (immunity) ทำให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย เพราะร่างกายมีกลไกต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ซึ่งแบ่งได้เป็นแบบไม่จำเพาะ (nonspecific defense) และแบบจำเพาะ (specific defense)
กลไกการต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะ (nonspecific defense)
มี 2 ด่าน ดังนี้
1. ด่านป้องกันชั้นต้น (first line defense) กลไกนี้เปรียบเสมือนแนวป้องกันที่ช่วยต่อต้าน หรือทำลายสิ่งแปลกปลอมก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อเยื่อ หรือที่อยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกาย ได้แก่
1.1) ผิวหนัง มีเคราตินซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ละลายน้ำ เป็นองค์ประกอบอัดแน่นภายในเซลล์และเรียงตัวกันหลายชั้น ช่วยป้องกันการเข้าออกของสิ่งต่างๆ ได้ ผิวหนังบางบริเวณยังมีต่อมเหงื่อ และต่อมไขมันหลั่งสารบางชนิด เช่น กรดไขมัน กรดแลกติก ทำให้ผิวหนังมีสภาพเป็นกรด ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บางชนิด
1.2) ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ซึ่งติดต่อกับภายนอก ยังมีเยื่อบุที่ทำหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของสาร มีการสร้างเมือก และมีซีเลียคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมและพัดออกนอกร่างกาย
1.3) น้ำตาและน้ำลาย ซึ่งมีไลโซไซม์ที่ช่วยทำลายเชื้อโรคบางชนิดได้
1.4) กระเพาะอาหาร มีสภาพเป็นกรด และมีเอนไซม์ช่วยย่อยและทำลายจุลินทรีย์บางชนิดได้
2. ด่านป้องกันชั้นที่สอง (second line defense) ถ้าสิ่งแปลกปลอมผ่านด่านป้องกันชั้นต้นเข้าสู่ร่างกายได้ ร่างกายจะมีวิธีการต่อต้านและท้าลายสิ่งแปลกปลอม โดยกระบวนการฟาโกไซโทซิสของเม็ดเลือดขาวพวกโมโนไซด์ ซึ่งออกจากกระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่อและมีขนาดใหญ่ขึ้น เรียกว่า แมโครฟาจ และยังมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลล์ กับอีโอซิโนฟิลล์ ช่วยทำลายจุลินทรีย์ต่างๆ ด้วย
การอักเสบเป็นกระบวนการต่อต้านเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยผ่านกลไกต่างๆ เพื่อยับยั้ง และดึงดูดองค์ประกอบต่างๆ ของระบบภูมิคุ้มกันมายังบริเวณนั้น เช่น การ อักเสบของบาดแผลที่ติดเชื้อ จะมีอาการบวมแดงร้อนปรากฏให้เห็น
ชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
1. ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) มีประมาณ 20-25% มีอายุ 2-3 ชั่วโมง เป็นเซลล์รูปร่างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-9 ไมโครเมตร มีนิวเคลียสกลม ในขณะที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองจะมีหน้าที่สร้าง antibody และทำลายสิ่งแปลกปลอมโดยวิธีฟาโกไซโตซิส ซึ่งแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
1.1) ลิมโฟไซต์ชนิดบี (B-lymphocyte) หรือ B-cell จะเจริญที่ไขกระดูก มีคุณสมบัติในการสร้าง antibody จำเพาะ โดยถ้าเซลล์บีถูกกระตุ้นโดยเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม เซลล์บีจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์พลาสมา (plasma cell) ทำหน้าที่สร้าง antibody และบางเซลล์เปลี่ยนไปเป็น เซลล์เมมมอรี (memory cell) ทำหน้าที่จำแอนติเจนนั้นไว้ ถ้าแอนติเจนนั้นเข้าสู่เซลล์ในภายหลัง เซลล์เมมเมอรีจะสร้าง antibody จำเพาะอย่างรวดเร็วไปทำลายแอนติเจนนั้นๆ ให้หมดไป
1.2) ลิมโฟไซต์ชนิดที (T-lymphocyte) หรือ T-cell เกิดจากเซลล์บริเวณไขกระดูก ซึ่งมีการเจริญพัฒนาที่ต่อมไทมัส เซลล์ทีบางชนิดจะกระตุ้นให้เซลล์บีสร้างสารแอนติบอดี และกระตุ้น ฟาโกไซต์ให้มีการทำลายสิ่งแปลกปลอมให้รวดเร็วขึ้น เซลล์ทีบางชนิดควบคุมการทางานของเซลล์บี และฟาโกไซต์ให้อยู่ในสภาพสมดุล และเซลล์ทีบางชนิดจะทำหน้าที่เป็นเซลล์เมมมอรีด้วย
2. นิวโทรฟิล (neutrophil) เป็นเซลล์รูปร่างกลมขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12-15 ไมโครเมตรมีอายุ 6-9 วัน พบประมาณ 60-70% มีนิวเคลียสหลายพู ทำหน้าที่เป็นด่านแรกที่ร่างกายใช้กำจัดสิ่งแปลกปลอมโดยวิธีฟาโกไซโทซิส หลังจากนั้น จะตายพร้อมกับสิ่งแปลกปลอมที่ถูกกำจัดกลายเป็นหนอง
3. อีโอซิโนฟิล (eosinophil) เป็นเซลล์ขนาดกลางมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-15 ไมโครเมตร มีอายุ 8-12 วัน พบประมาณ 2-5 % มีนิวเคลียส 2 พู และไม่เห็นนิวคลีโอลัส ทำหน้าที่กาจัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกาย โดยเฉพาะปรสิตขนาดใหญ่
4. เบโซฟิล (basophil) เป็นเซลล์รูปร่างกลมขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12-15 ไมโครเมตร มีอายุ 3-7 วัน พบประมาณ 0.5-1% มีนิวเคลียสรูปร่างเป็นตัว S หรือบางครั้งเป็นแถบยาว ทำหน้าที่จับสิ่งแปลกปลอมโดยวิธีฟาโกไซโตซิส แต่ความสามารถจะด้อยกว่าชนิดนิวโทรฟิล และอีโอซิโนฟิลมาก หน้าที่หลักคือ หลั่งสารเฮพาริน (heparin) ซึ่งเป็นสารที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด และสารฮีสตามีน (histamine) ซึ่งก่อให้เกิดอาการบวมหรือแพ้
กลไกการต่อต้านหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมแบบจำเพาะ (specific defense)
จะเกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ได้แก่ B-cell และ T-cell
1. การทำงานของเซลล์บี เมื่อมีแอนติเจนถูกทำลายด้วยวิธีฟาโกไซโทซิส ชิ้นส่วนที่ถูกทำลายจะไปกระตุ้นให้เซลล์บีเพิ่มจำนวน เซลล์บีบางเซลล์จะขยายขนาด และเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีจำเพาะต่อแอนติเจน เรียกว่า เซลล์พลาสมา (plasma cell) เซลล์ที่ได้จากการที่เซลล์บีแบ่งตัวบางเซลล์จำเพาะ ทำหน้าที่เป็นเซลล์เมมเมอรี (memory cell) คือจดจ้าแอนติเจนนั้นๆ ไว้ ถ้ามีแอนติเจนนี้เข้าสู่ร่างกายอีก เซลล์เมมเมอรีก็จะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และเจริญเป็นเซลล์พลาสมา สร้างแอนติบอดีออกมาทำลาย แอนติเจน
2. การทำงานของเซลล์ที จะรับรู้แอนติเจนแต่ละชนิด เช่น เซลล์ทีบางตัวจะรับรู้แอนติเจนที่เป็นไวรัสตับอักเสบ เซลล์ทีบางตัวจะรับรู้แอนติเจนที่เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น เซลล์ทีตัวแรกที่ตรวจจับแอนติเจน เรียกว่า เซลล์ทีผู้ช่วย (helper T-cell) จะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์บีให้สร้างแอนติบอดีมาต่อต้านแอนติเจน หรือกระตุ้นการทำงานของเซลล์ทีอื่น เช่น เซลล์ทีที่ทำลายสิ่งแปลกปลอม (cytotoxic T-cell) หรือเซลล์ที่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เซลล์มะเร็ง เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส เซลล์จากอวัยวะที่ร่างกายได้รับการปลูกถ่าย เซลล์ทีบางเซลล์ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเรียกว่า เซลล์ทีกดภูมิคุ้มกัน (suppressor T-cell) โดยสร้างสารไปกดการทำงานของเซลล์บี หรือเซลล์ทีอื่นๆ
การสร้างภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย
สร้างขึ้นได้ 2 วิธี ดังนี้
1. ภูมิคุ้มกันก่อเอง หรือการก่อภูมิคุ้มกันด้วยตนเอง (active immunization)
เมื่อร่างกายถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจน หรือสิ่งแปลกปลอมภายนอกร่างกาย อาจเป็นเชื้อโรคที่อ่อนกำลังแล้วไม่ทำอันตราย นำมาฉีด กิน หรือทาที่ผิวหนัง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือสร้างแอนติบอดีที่ทำปฏิกิริยาเฉพาะกับแอนติเจนนั้น
เชื้อโรคที่อ่อนกำลังแล้วนำมากระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อต้านเชื้อนั้นๆ เรียกว่า วัคซีน (vaccine) ชนิดของวัคซีนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.1) วัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่ถูกฆ่าตายแล้ว (killed vaccine) หรือทำจากองค์ประกอบของไขมัน เช่น สารพิษ สารพิษก็ต้องทำลายให้หมดพิษเสียก่อนโดยความร้อน หรือโดยสารเคมี ดังนั้น จึงไม่ทำให้เกิดโรคกับร่างกาย แต่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีได้ ได้แก่ วัคซีนโรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคโปลิโอ (ชนิดฉีด) โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
1.2) วัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง (lived vaccine) เชื้อเหล่านี้จะสามารถเจริญเติบโต และแบ่งตัวอยู่ในขอบเขตจำกัดเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ทำให้เกิดโรครุนแรง แต่มีความสามารถในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่น วัคซีนวัณโรค (BCG vaccine) โรคหัด หัดเยอรมัน โรคโปลิโอ (ชนิดกิน) โรคคางทูม เป็นต้น
1.3) วัคซีนประเภททอกซอยด์ (toxoid) หมายถึง สารพิษของเชื้อแบคทีเรียที่ท้าให้หมดพิษแล้ว โดยใช้ความร้อน หรือสารเคมี สามารถนำไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก เป็นต้น
2. ภูมิคุ้มกันที่รับมา (Passive immunization)
เป็นการให้แอนติบอดีแก่ร่างกายโดยตรง โดยแอนติบอดีนี้ได้จากสัตว์อื่นๆ ใช้สำหรับรักษาโรคบางชนิดที่แสดงอาการรุนแรงเฉียบพลัน โดยการฉีดเชื้อโรคที่อ่อนกำลังแล้วเข้าไปในสัตว์พวกม้า หรือกระต่าย เพื่อให้ร่างกายของสัตว์ดังกล่าวสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อโรคนั้นๆ แล้วนำเลือดของม้าหรือกระต่าย เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสๆ เรียกว่า ซีรัม (serum) ที่มีแอนติบอดีอยู่มาฉีดให้กับผู้ป่วย เป็นการทำให้ร่างกายได้รับภูมิคุ้มกันโดยตรง สามารถป้องกันโรคได้ทันท่วงที เช่น ซีรัมสำหรับคอตีบ ซีรัมแก้งูพิษ ซีรัมโรคกลัวน้ำ ภูมิคุ้มกันที่แม่ให้ลูกโดยผ่านทางรก หรืออาจได้รับโดยการกินนม
ข้อเสียของภูมิคุ้มกันรับมา คือ แอนติบอดีอยู่ได้ไม่นาน ผู้ป่วยอาจแพ้ซีรัมจากสัตว์ได้ หรืออาจติดเชื้ออื่นๆ ที่มีในน้ำเหลืองของผู้ให้ เช่น ไวรัสตับอักเสบ และโรคเอดส์
ข้อดีของภูมิคุ้มกันรับมา คือ สามารถให้ภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว สามารถป้องกันได้แม้ได้รับหลังจากที่ได้สัมผัสกับเชื้อโรคนั้นแล้ว
พัดชา วิจิตรวงศ