คดีแพ่งและคดีอาญา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 37.7K views



กฎหมายนั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลในรัฐ และความสัมพันธ์ของบุคคลกับรัฐ เป็นข้อห้ามและข้อบังคับที่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน กล่าวในทางปฏิบัติแล้ว กฎหมายแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ กฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา

ภาพ : shutterstock.com

 

กฎหมายแพ่ง

เป็นกฎหมายที่มุ่งคลี่คลายข้อพิพาท ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับคู่กรณี โดยการให้ผู้ละเมิดชดใช้เงิน ทรัพย์สิน หรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ตัวอย่างคดีแพ่ง เช่น คดีกู้ยืมเงิน คดีเช่าทรัพย์ คดีซื้อขาย คดีมรดก เป็นต้น

คดีแพ่ง จึงเป็นคดีที่เกี่ยวกับข้อพิพาทของบุคคล 2 ฝ่าย ที่มีการละเมิดสิทธิ ผิดสัญญา หรือโต้แย้งสิทธิกัน การฟ้องร้องคดีแพ่ง ต้องมีการจ้างทนายความเพื่อฟ้องร้อง ต้องมีการเสียค่าขึ้นศาล ค่าส่งหมายให้ฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ทราบถึงการฟ้องร้องนั้น ค่าคำร้อง และอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งค่าธรรมเนียมต่างๆ จะมีการรวบรวมไว้ และเมื่อชนะคดีแล้ว ศาลจะพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าธรรมเนียมต่างๆ นั้น แทนโจทก์ และเมื่อชนะคดี โจทก์ก็ต้องนำยึดทรัพย์สินของจำเลย (ถ้ามี) เพื่อนำออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์

 

กฎหมายอาญา

เป็นกฎหมายที่มุ่งรักษาสวัสดิภาพของผู้คนในสังคมเป็นหลัก โดยการลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิด เพื่อทดแทนความเสียหายที่ได้กระทำไป เพื่อให้หลาบจำ ไม่กระทำความผิดซ้ำอีก หรือเพื่อตัดโอกาสไม่ให้กระทำความผิดได้อีกในกรณีที่เป็นความผิดร้ายแรง เช่น การจำคุกตลอดชีวิต หรือการประหารชีวิต ตัวอย่างคดีอาญา เช่น คดีทำร้ายร่างกาย คดีลักทรัพย์ คดีชิงทรัพย์ คดีปล้นทรัพย์ คดีรับของโจร คดีฆ่าคนตาย คดีประมาททำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เป็นต้น

คดีอาญา จึงเป็นคดีที่เมื่อเกิดขึ้นจะกระทบกระเทือนถึงสาธารณชนในบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นความผิดต่อรัฐ เช่น มีการฆ่าคนตาย มีการใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท มีการชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความหวาดกลัว ความไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตโดยปรกติสุขในสังคม การฟ้องร้องคดีอาญานั้น เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้น จะมี 2 กรณีคือ แจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการจ้างทนายความเพื่อฟ้องร้องเอง

ภาพ : shutterstock.com

 

กรณีแรก

เมื่อมีการทำความผิดเกิดขึ้น จะมีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบปากคำ และจัดทำสำนวนเสร็จแล้ว จะมีความเห็นว่าควรส่งฟ้องหรือไม่ และมีการเสนอสำนวนไปยังพนักงานอัยการ เมื่อพนักงานอัยการตรวจดูสำนวนแล้ว ถ้ามีความเห็นควรส่งฟ้อง ก็จะดำเนินการฟ้องคดีอาญา เพื่อให้จำเลยได้รับโทษต่อไป

 

กรณีที่สอง

เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะจ้างทนายความเพื่อฟ้องร้องคดีเอง โดยจะมีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ก็ได้ หรือกรณีที่ผู้เสียหายเห็นว่าคดีจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นตำรวจ เนื่องจากผู้กระทำความผิดมีการวิ่งเต้น หรือมีอิทธิพล หรืออาจเป็นคดีเล็กน้อย เช่น คดีตั๋วเงิน (เช็ค) ซึ่งถ้าแจ้งความแล้วจะล่าช้ากว่าการจ้างทนายความฟ้องร้องคดีเอง



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ