การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 134.8K views



การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หมายถึง การรวมตัวกันของประเทศต่างๆ เพื่อเสริมสร้าง และรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างเป็นทางการ เป็นการพยายามหาช่องทางขยายการค้าระหว่างกัน มีการยกเลิกอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งมีการแบ่งประเภทดังนี้ ประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกันในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศต่างๆ มีความสามารถในการผลิตไม่เหมือนกัน และประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกันในด้านลักษณะทางกายภาพ เช่น สภาพดิน สภาพอากาศ และภูมิประเทศต่างกัน

ภาพ : shutterstock.com

 

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างอำนาจการต่อรองในการเจรจากับประเทศนอกกลุ่ม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ประเทศภายในกลุ่ม เพื่อขยายตลาดทั้งของประเทศในกลุ่มกับตลาดภูมิภาคให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

การรวมกลุ่มทางการค้าจะทำให้ประเทศมีโอกาสเข้าสู่ตลาดของประเทศคู่ค้ามากยิ่งขึ้น มีลู่ทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ขนาดของตลาดเพิ่มขึ้น ดึงดูดใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น อันจะนำมาสู่การขยายตลาดของทั้งของประเทศในกลุ่มและของภูมิภาคให้กว้างขวางขึ้น

เพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การรวมกลุ่มระหว่างประเทศในบางประเภทจะกำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างกันได้ ทำให้ปัจจัยการผลิตจะถูกนำไปใช้ในสภาวะการผลิตที่เหมาะสมที่สุด และเพื่อลดการพึ่งพาทางด้านเศรษฐกิจและเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อมีการรวมกลุ่มทางการค้าเกิดขึ้น ประเทศสมาชิกในกลุ่มจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้สามารถลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจและเงินทุนจากประเทศอื่นๆ ได้

ประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศมีหลายประการ เช่น เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ ทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำ เกิดการแข่งขันกันด้านคุณภาพของสินค้าและบริการ และเกิดความชำนาญเฉพาะอย่างในการผลิตสินค้าที่ถนัดอย่างต่อเนื่อง

การรวมกลุ่มระหว่างประเทศเป็นการตกลงร่วมมือกันของประเทศภายในกลุ่ม ที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้งการลดมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปของภาษี และที่มิใช่ภาษี รวมทั้งลดกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ทำให้ประเทศที่ได้รวมกลุ่มทางการค้าได้ประโยชน์มากมาย ทั้งการใช้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ในด้านปัจจัยการผลิต ด้านการจ้างงาน และด้านอื่นๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้น    



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ