วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7.8K views



วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะยึดตามปฏิทินจันทรคติ เป็นวันที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพุทธประวัติ และเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับศาสนาพุทธในอดีต เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

 

วันมาฆบูชา การประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ

มาฆบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 3 โดยความสำคัญของวันมาฆบูชาคือ เป็นวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ หรือ “จาตุรงคสันนิบาต” คือ

- มีภิกษุทั้งหมด 1,250 รูป มาประชุมรวมกันโดยมิได้นัดหมาย
- ภิกษุทั้งหมดนั้นพระพุทธองค์ทรงบวชให้
- ภิกษุทั้งหมดนั้นเป็นพระอรหันต์
- เป็นวันเพ็ญ

วันมาฆบูชายังเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา กล่าวโดยย่อคือ “ละชั่ว ทำดี ชำระจิตให้ผ่องแผ้ว” พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ที่ประชุมสงฆ์ ตลอดเวลา 20 พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนในเวลาต่อมา

 

วันวิสาขบูชา

วิสาขบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 โดยความสำคัญของวันวิสาขบูชาคือ

- เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ
- เป็นวันที่ทรงตรัสรู้ในอีก 35 ปีต่อมา
- เป็นวันที่ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานในอีก 45 ปีต่อจากวันที่ตรัสรู้ หรือ 80 ปีนับจากวันประสูติพอดีอีก

วันเพ็ญกลางเดือน 6 จึงเป็นวันที่ชาวพุทธจะระลึกถึงพระพุทธคุณของพระพุทธองค์

 

วันอัฏฐมีบูชา

เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือเดือน 6 ซึ่งก็คือหลังเสด็จปรินิพพานแล้ว 8 วัน

 

วันอาสาฬหบูชา

อาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 8 โดยความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาคือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา หรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก แก่วัคคีย์ทั้ง 5 ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีป

ภาพ : shutterstock.com

 

วันเข้าพรรษา

คือวันเข้าฤดูฝน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝนเป็นเวลา 3 เดือน หลักปฏิบัตินี้เกิดจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุมีหน้าที่จาริกภิกขาจารออกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าภิกษุได้ไปเหยียบข้าวกล้า และพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษา ให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ในฤดูฝน คือเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ไปจนถึงวันออกพรรษา

 

วันออกพรรษา

คือวันสิ้นสุดฤดูฝน หรือการจำพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือยอมให้ คือเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้งล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน

 

วันพระ

หรือวันธรรมสวนะ หมายถึง วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพุทธศาสนา (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) กำหนดเดือนทางจันทรคติละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ) วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำแทน


 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ