ความขัดแย้งทางศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 15K views



ศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในสังคมโลก ความเชื่อที่ต่างกันของศาสนิกชนแต่ละศาสนา สามารถทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมโลกได้ หากศาสนิกเหล่านั้นไม่เข้าใจเป้าหมายที่แท้จริง ของคำสอนในศาสนาที่ตนนับถือ

ภาพ : shutterstock.com

 

ความขัดแย้งทางศาสนา เกิดจากความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน แต่ก็สามารถคลี่คลายได้ด้วยความเข้าใจในคำสอนของศาสนาของตน และศาสนาอื่นอย่างถ่องแท้ เพราะความขัดแย้งล้วนเกิดจากความเข้าใจที่ตื้นเขินเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ

พระพุทธศาสนา

ศาสนาพุทธ สอนให้คนเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม การกระทำย่อมส่งผลตอบสนองผู้ทำกรรมเสมอ ไม่ว่ากรรมดี หรือกรรมชั่ว ศีลพื้นฐานทั้ง 5 ข้อ คือการสอนให้ละเว้นการประพฤติชั่ว ทั้งทางกาย และวาจา เว้นการเบียดเบียนต่อผู้อื่น ทั้งต่อชีวิต และทรัพย์สิน เว้นจากการประทุษร้ายผู้อื่น ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม สอนหลักธรรมเรื่องการบริจาคทาน (ซะกาต) เพื่อให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคม การถือศีลอดเพื่อฝึกฝนความอดทน และความยับยั้งชั่งใจ คำว่า “อิสลาม” แปลว่า “สันติสุข” จึงหมายความว่า ศาสนาอิสลามมุ่งเน้นให้เกิด “สันติภาพ” ในมวลมนุษย์เป็นสำคัญ

คริสตศาสนา

ศาสนาคริสต์ มีหลักบัญญัติ 10 ประการ เช่น สอนให้นับถือบิดามารดา อย่าฆ่าคน อย่างล่วงประเวณี อย่าโลภ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับศีลในศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ยังเน้นการเผื่อแผ่ความรักแก่เพื่อนมนุษย์ และการตอบแทนความชั่วด้วยความดีอีกด้วย

ศาสนาฮินดู

ศาสนาฮินดู สอนเรื่องกฎแห่งกรรมเช่นเดียวกันกับศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดูจึงสอนให้งดเว้นการทำบาปทั้งปวงเช่นกัน คำสอนเรื่องปรมาตมัน และอาตมัน ทำให้เกิดความตระหนักในคุณค่า และความเท่าเทียมกันของสรรพชีวิตทั้งหลาย

ศาสนาสิกข

ศาสนาสิกข์ สอนหลักธรรมเรื่องอมตภาพของวิญญาณ ถ้าบุคคลใดต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ก็จะต้องชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ และสอนว่ามนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกัน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าศาสนาทุกศาสนาล้วนสอนให้คนทำกรรมดี ชำระใจให้บริสุทธิ์ เลิกเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อให้เกิดสันติภาพ และความสงบสุขแก่สังคมโลกทั้งสิ้น การทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้ง และความรุนแรง ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ตามหลักคำสอนของศาสนาใดๆ ทั้งนั้น ดังนั้น ไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข บนความเข้าใจในความแตกต่างอย่างแท้จริง


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ