การปฏิบัติตนตามหลักธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 136.3K views



การปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น ที่สำคัญที่สุดคือ การปฏิบัติตามหลัก “มรรคมีองค์ 8” เพราะเป็นทางแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในทรรศนะของศาสนาพุทธ แต่นอกจากเป้าหมายสูงสุดอย่าง “พระนิพพาน” แล้ว ผู้ครองเรือนที่ยังสลัดเรื่องทางโลกไม่หลุด ก็สามารถปฏิบัติธรรมที่มุ่งหวังผลสำเร็จในเบื้องต้นได้ก่อน อย่างเช่นหลัก “อุบาสกธรรม 7” เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

 

อริยมรรคมีองค์ 8

“อริยอัฏฐังคิกมรรค” หรือ “อริยมรรคมีองค์ 8” คือทางอันประเสริฐแห่งความหลุดพ้น อันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ เป็นแนวทางการปฏิบัติตนที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนา องค์ประกอบทั้ง 8 มีดังต่อไปนี้

1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ มีทรรศนะหรือมุมมองที่ถูกต้อง เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่งตามกฎ “ไตรลักษณ์” เห็นนิพพานเป็นจุดมุ่งหมาย เห็นความเป็นเหตุผล หรือสาเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท เห็นความดีว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เห็นความชั่วว่าเป็นสิ่งที่พึงละเว้น

2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ มีความคิดที่ดีงาม เป็นกุศล เว้นจากความคิดอกุศล

3. สัมมาวาจา คือ วาจาชอบ การเจรจาด้วยวจีสุจริต ไม่นินทาว่าร้าย ไม่ยุแยง ไม่ส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ

4. สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำชอบ ประพฤติแต่ความดี ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ไม่ประกอบกรรมชั่ว

5. สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพชอบ ทำมาหากินด้วยความสุจริต ไม่คดโกง ไม่ฉ้อโกง

6. สัมมาวายามะ คือ ความพยายามชอบ ประกอบความเพียรในทางดีงาม

7. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ มีสติรู้เท่าทันความคิด คำพูด และการกระทำของตน ไม่ให้ตกไปอยู่ในฝ่ายอกุศล

8. สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิตชอบ ตั้งมั่นจิตอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

 

อริยมรรคนี้ สามารถกล่าวโดยย่อลงเป็น “ไตรสิกขา” หรือการศึกษาทั้ง 3 อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา โดยที่

- สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ จัดเป็นศีล

- สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ จัดเป็นสมาธิ

- สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญา

และไตรสิกขานี้ กล่าวโดยย่อลงอีกทีก็คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “ทางสายกลาง” เท่ากับว่า อริยมรรคแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ก็คือทางสายกลางนั่นเอง

 

อุบาสกธรรม 7

นอกจากอริยมรรคมีองค์ 8 ที่เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อมุ่งพระนิพพาน สำหรับผู้ที่เห็นโทษของสังสารวัฏแล้ว สำหรับผู้ครองเรือนก็สามารถประพฤติ “อุบาสกธรรม 7” เพื่อช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา ให้ยั่งยืนสถาพรสืบไปภายหน้าด้วย โดยอุบาสกธรรมประกอบด้วย 7 ข้อดังต่อไปนี้

1. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ คือ การหมั่นเข้าวัด สนทนากับพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

2. ไม่ละเลยการฟังธรรม คือ ให้ความใส่ใจในการฟังธรรมเทศนา

3. ศึกษาในอธิศีล คือ รักษาศีลให้บริสุทธิ์

4. มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ นวกะ และปูนกลาง คือ ให้ความศรัทธาต่อพระภิกษุโดยเสมอภาค ไม่แบ่งแยกพรรษา

5. ไม่ฟังธรรมด้วยตั้งใจจะคอยเพ่งโทษติเตียน คือ ฟังธรรมด้วยจิตน้อมนำไปในทางกุศล

6. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาการทำบุญบริจาคทานนอกคำสอนของพระศาสนา

7. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ