พระธรรม และพระสงฆ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.8K views



พระรัตนตรัย คือแก้วอันประเสริฐ 3 ประการ ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดย พระพุทธ หมายถึง องค์พระพุทธเจ้า พระธรรม หมายถึง ความจริงของโลก ชีวิต และสรรพสิ่ง อย่างเช่น อริยสัจ 4 ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาสอนแก่สาวก และพระสงฆ์ หมายถึง หมู่ของพระภิกษุสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้รับสืบทอด และเผยแผ่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว โดยพระอริยสงฆ์จะมีคุณสมบัติ 9 ประการ หรือเรียกว่า สังฆคุณ 9

ภาพ : shutterstock.com

 

พระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง ที่ระลึกที่ดีที่สุดของชาวพุทธ การนับถือศาสนาพุทธ ก็เท่ากับการยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของศาสนาพุทธ เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ทรงยกพระธรรมเป็นศาสดา ซึ่งพระธรรมนั้นก็ต้องอาศัยพระสงฆ์สาวกเป็นผู้จดจำ และถ่ายทอดสืบต่อไป ดังนั้น แก้วทั้ง 3 ประการ จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีคุณสมบัติสำคัญ 9 ข้อ เรียกว่า “สังฆคุณ 9” ปรากฏอยู่ในบทสวดสรรเสริญคุณของพระสงฆ์ หรือพระอริยสงฆ์ผู้บรรลุมรรค และผลขั้นต่างๆ สำหรับสมมติสงฆ์ ก็อนุโลมตามคุณของพระอริยสงฆ์ได้

 

โดยสังฆคุณมี 9 ประการ ดังต่อไปนี้

1. สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี

2. อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง

3. ญายะปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง

4. สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่การเคารพ

5. อาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่สิ่งของคำนับ

6. ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ

7. ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน (สิ่งของให้ทาน)

8. อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี (ไหว้)

9. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งของโลก

พระสงฆ์เป็นผู้เผยแผ่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ โดยธรรมที่สำคัญที่สุด ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสรู้เหมือนกันก็คือ “อริยสัจ 4” หรือ ความจริงที่ทำให้ผู้ที่เข้าถึง กลายเป็นพระอริยะ เป็นผู้ประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วย 4 ประการ ดังนี้

- ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้) หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ ทุกข์จึงเป็นสภาวะที่จะต้องกำหนดรู้ว่า นี่คือความทุกข์หรือปัญหา

- สมุทัย (ธรรมที่ควรละ) หมายถึง ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์หรือปัญหา ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกำหนัดรักใคร่นั้นๆ

- นิโรธ (ธรรมที่ควรบรรลุ) หมายถึง สภาวะที่ทุกข์หมดสิ้นไป สภาพที่ปราศจากทุกข์ มีแต่ความสงบร่มเย็น สภาวะที่จัดเป็นนิโรธนี้ ถือเป็นที่สุดในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ

- มรรค (ธรรมที่ควรเจริญ) หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 โดยองค์ประกอบทั้ง 8 ประการนี้ จะส่งผลให้บุคคลเข้าถึงความดับทุกข์สิ้นเชิงได้

อริยสัจ 4 ไม่เพียงแต่เป็นหลักความจริงอันประเสริฐ แต่ยังถือว่าเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหาชีวิตอีกด้วย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะต้องพิจารณาว่าเกิดปัญหาเกิดจากสาเหตุใด หากต้องการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไป ก็ต้องหาทางแก้ที่สาเหตุแห่งปัญหานั้น ๆ


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ