พัฒนาการของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 321.1K views



การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์หลังจากที่ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงปราบจลาจลในปลายสมัยธนบุรีเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี และขึ้นครองราชย์ในฐานะปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังฝั่งกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. 2325 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการของไทยสมัยรัตนโกสินทร์

ภาพ : shutterstock.com

 

การพัฒนาของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หมายถึง ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ซึ่งนับว่าเป็นระยะเชื่อมต่อระหว่างประวัติศาสตร์ไทยยุคเก่ามาสู่การปฏิรูป และพัฒนาประเทศตามแบบอารยธรรมตะวันตกในยุคปัจจุบัน ความเจริญในด้านต่างๆ ในช่วงนี้คือ

       - การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด
       - การปกครองส่วนกลาง มีลักษณะดังนี้ คือ มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง และมีจตุสดมภ์ทั้ง 4 ฝ่าย ภายใต้การดูแลของสมุหนายก
       - การปกครองส่วนภูมิภาค ได้มีการแบ่งหัวเมืองเป็น 3 ประเภท คือหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช
       - ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการชำระและรวบรวมกฎหมายเก่าขึ้นเป็นประมวลกฎหมายเรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ตราทั้งสามคือ ตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้ว
       - การศึกษามีศูนย์กลางอยู่ที่ วัด วัง และตำหนักเจ้านาย
       - รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกตำราการแพทย์แผนโบราณ ไว้ที่วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวัดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
       - ด้านศาสนา มีการทำนุบำรุงศาสนา มีการออกกฎหมายสำหรับพระสงฆ์ และมีการสร้างวัดสำคัญๆ
       - ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการสร้าง และปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนมาก
       - ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกได้ขยายตัวมาก ชาติตะวันตกเข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมากขึ้นกว่าครั้งอดีต

 

การพัฒนาของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง

คือช่วงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้ อยู่ที่การทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ในสมัยรัชการที่ 4 ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้สภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อนำประเทศให้เจริญก้าวหน้าตามแบบอารยธรรมตะวันตก มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ด้านการปกครอง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีบางอย่างเพื่อให้ราษฎรมีโอกาสใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ คือ เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าเฝ้าได้โดยสะดวก ให้ราษฎรเข้าเฝ้าถวายฎีการ้องทุกข์ได้ ในขณะที่ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ และจัดแบ่งหน่วยราชการเป็นกรมต่างๆ 12 กระทรวง มีเสนาบดีเป็นเจ้ากระทรวง การปกครองส่วนภูมิภาค ทรงยกเลิกการจัดหัวเมืองที่แบ่งเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี และจัตวา แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และการปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มจัดการทดลองแบบ “สุขาภิบาล” ขึ้นเป็นครั้งแรก

2. การปฏิรูปกฎหมายและการศาล

ในรัชกาลที่ 4 ทรงตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ เพื่อให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพบ้านเมือง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับมรดก สินสมรส ฯลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) เป็นกำลังสำคัญ มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมาย จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น

3. ด้านเศรษฐกิจ

ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว การค้าของไทยเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้มีการปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ เช่น ในรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนการใช้เงินพดด้วงมาเป็นเงินเหรียญ มีการขุดคลอง ตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายสาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนมาตราเงินไทยมาใช้ระบบทศนิยม ใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนเงิน ให้ใช้เหรียญบาท เหรียญสลึง และเหรียญสตางค์แทนเงินแบบเดิม มีการจัดตั้งธนาคารของเอกชนขึ้นเป็นครั้งแรก คือ “แบงก์สยามกัมมาจล” ปัจจุบันคือ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดให้ตั้ง “คลังออมสิน” ขึ้น ปัจจุบันคือ “ธนาคารออมสิน”

4. ด้านการศึกษา

ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาของไทยตามแบบสมัยใหม่ คือ คณะมิชชันนารีอเมริกัน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้ตั้งโรงเรียนชายขึ้นที่ตำบลสำเหร่ ซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ส่วนโรงเรียนสตรีแห่งแรกในไทยคือ โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยา ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีโรงเรียนประเภทต่างๆ เกิดขึ้น คือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

5. ด้านศาสนา

รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง เช่น วัดโสมนัสวิหาร วัดราชประดิษฐ์ วัดปทุมวนาราม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระกรณียกิจที่สำคัญคือ โปรดให้จัดตั้งสถานศึกษาสำหรับพระสงฆ์ขึ้น 2 แห่ง ซึ่งต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์มีการศึกษาถึงระดับปริญญาเอก คือ “มหามกุฏราชวิทยาลัย” วัดบวรนิเวศวิหาร และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ

6. ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า ทรงให้เสรีภาพประชาชนในการนับถือศาสนา และประกอบอาชีพ ให้ข้าราชการสวมเสื้อราชปะแตน และสวมหมวกอย่างยุโรป ข้าราชการทหารแต่งเครื่องแบบตามแบบตะวันตก ทรงเลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าและให้ยืนเข้าเฝ้าแทน ยกเลิกการโกนผมเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต

7. ด้านศิลปกรรม

เริ่มมีการก่อสร้างแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี ประติมากรรม ได้แก่ พระพุทธชินราชจำลอง วัดเบญจมบพิตร พระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีสิบสองเดือน เงาะป่า การก่อสร้างแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังพญาไท ด้านดนตรีและการแสดงละคร มีความรุ่งเรืองมาก มีการแสดงละครเพิ่มขึ้นหลายประเภท เช่น ละครร้อง ละครพูด ด้านวรรณคดี ได้มีพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น “เวนิสวาณิช” “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” ฯลฯ


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ