เหตุการณ์สำคัญสมัยรัตนโกสินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 268.7K views



วิธีการทางประวัติศาสตร์ เป็นวิธีการศึกษาเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีหลักการที่น่าเชื่อถือ และเป็นสากล โดยอาศัยการหาหลักฐานและข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาตีความ การศึกษาเหตุการณ์สำคัญของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น หากใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นแนวทางในการศึกษา ก็จะทำให้เข้าใจเรื่องราวได้กระจ่างชัดและแม่นยำ

ภาพ : shutterstock.com

 

การใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาเหตุการณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มได้จากการตั้งประเด็นที่จะศึกษาขึ้นมาก่อน เช่นว่า “สุนทรภู่เกิดที่กรุงเทพฯ หรือระยองกันแน่?” หรือ “ความรักและการเมือง กรณีเจ้าดารารัศมี พระราชชายา” หรือ “ความสำเร็จของการเลิกทาสอย่างละมุนละม่อม” เป็นต้น จากนั้นจึงเริ่มสืบค้นและรวบรวมข้อมูล เป็นต้นว่า พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ ตลอดจนหนังสือชีวประวัติหรืออัตชีวประวัติ จากห้องสมุดต่างๆ หอสมุดแห่งชาติ หรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเมื่อรวบรวมหลักฐานได้พอเพียงแล้ว จึงทำการประเมินคุณค่าของหลักฐาน ตามด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล และเรียบเรียงข้อมูลที่ได้มาเพื่อนำเสนอเป็นขั้นตอนสุดท้าย

 

ตัวอย่างของเรื่องราวเหตุการณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้จากการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ศึกษามีดังต่อไปนี้

สงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328

สงครามเก้าทัพเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกภายหลัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 3 ปี ในสงครามนี้ พม่าข้าศึกได้ยกกำลังพลประมาณ 144,000 คนมารุกราน เพื่อหวังพิชิตสยามให้จงได้ ถ้าหากสยามพ่ายศึกนี้ ก็ยากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก ดังนั้นสงครามครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากต่ออนาคตของสยาม สงครามเก้าทัพเรียกตามจำนวนกองทัพที่พระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่า จัดแบ่งกำลังทหารออกเป็น 9 ทัพ เพื่อมาโจมตีไทย โดยมีเป้าหมายหลักคือ กรุงเทพฯ

 

การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398

การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2398 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความสำคัญต่อไทยคือ เป็นการเปิดกว้างประเทศไทย ทำให้ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยเริ่มการปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบสากล สนธิสัญญาเบาว์ริงก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่ทำให้ไทยถูกจำกัดในเรื่องสิทธิการเก็บภาษีขาเข้า เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเรื่องคนในบังคับของต่างชาติ

 

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ เหตุการณ์ที่ร้ายแรงจากการที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อม และเรือรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาได้ประกาศปิดอ่าวไทย และยื่นข้อเรียกร้องจากไทย ทำให้ไทยยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเสียค่าปรับถึง 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 1,605,000 บาท นับเป็นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงมากในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ฝรั่งเศสหลังจากได้เวียดนาม และเขมรส่วนนอก หรือเขมรด้านตะวันออกแล้ว ก็พยายามที่จะยึดครองลาว ซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของไทย เพื่อหวังใช้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านลาวเป็นเส้นทางไปสู่จีนซึ่งเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เริ่มมีความรุนแรงตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2436 เมื่อฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงแตง (สตรึงเตร็ง) ทางใต้ของเมืองจำปาศักดิ์ และเมืองคำมวน (คำม่วน) ใกล้เมืองนครพนม ซึ่งเป็นของไทย จนมีการสู้รบกัน ระหว่างนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการป้องกันประเทศ ทรงเร่งรัดการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าโดยทรงบริจาคเงิน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท) เป็นค่าใช้จ่ายและซื้ออาวุธสำหรับป้อม เพื่อเป็นการรักษาเอกราชของชาติ ดังที่มีพระราชปณิธานว่า “ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

 

ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง และไทยก็เกี่ยวข้องทั้ง 2 ครั้งคือ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะหลังๆ ของสงคราม โดยส่งทหารไปร่วมรบในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ทันได้ร่วมรบ สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สงบลง ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) มีผลต่อไทยโดยตรง และไทยเกี่ยวข้องตั้งแต่ระยะแรกๆ ของสงครามแม้ว่าไทยจะไม่ใช่สมรภูมิที่สำคัญ แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านทวีปเอเชียก็มีผลต่อไทยมาก เพราะญี่ปุ่นมีการตั้งวงไพบูลย์ร่วมมหาเอเชียบูรพา โดยมีการรณรงค์ตามคำขวัญว่า ทวีปเอเชียสำหรับชาวเอเชีย เพื่อขับไล่มหาอำนาจชาติตะวันตกออกไปจากทวีปเอเชีย

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ