ศาสนพิธีของแต่ละศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 14.5K views



ศาสนพิธี ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนาต่างๆ ความแตกต่างของศาสนพิธีของศาสนาต่างๆ นั้น สืบเนื่องมาจากการมีความเชื่อ และหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนาที่มีความแตกต่างกัน

ภาพ : shutterstock.com

 

ศาสนาในกลุ่มที่มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ศาสนาในกลุ่มเทวนิยม ย่อมมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชา หรือการให้ความสำคัญกับพระเจ้า เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ศาสนาซึ่งไม่มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้า กล่าวคือ ศาสนาในเชิงอเทวนิยม ตัวอย่างเช่น พระพุทธศาสนา ย่อมมีหลักปฏิบัติ หรือศาสนพิธีที่มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้า

ตัวอย่างเช่น พิธีการเรื่องศีลของศาสนาคริสต์ ซึ่งประกอบด้วยพิธีกรรมทั้งหมดเจ็ดพิธีนั้น อาจจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องพระเจ้าอย่างมีนัยที่สำคัญ 

ตัวอย่างเช่น ศีลล้างบาป มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องบาปกำเนิด ซึ่งติดตัวมนุษย์มาเนื่องด้วยการฝ่าฝืน หรือละเมิดคำสั่งของพระเจ้า หรือศีลมหาสนิท คือพิธีที่สะท้อนถึงการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับพระผู้เป็นเจ้า

ในขณะที่ศาสนาอิสลามนั้น การละหมาด ถือเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อพระเจ้า หรือการปฏิญาณตนในการนับถือพระเจ้า เป็นพิธีที่แสดงออกถึงการยอมรับในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระเจ้าในลักษณะดังกล่าว

ในแง่นี้ ความแตกต่างระหว่างพิธีกรรมทางศาสนานั้น ไม่สามารถที่จะถูกนำมาเป็นสิ่งที่ใช้เปรียบเทียบระดับความสำคัญระหว่างศาสนาต่างๆ ได้ ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น พิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ นั้นเกิดขึ้น และสอดคล้องไปกับหลักความเชื่อพื้นฐานของแต่ละศาสนา อย่างไรก็ดี การพิจารณาพิธีการต่างๆ ของศาสนาอาจจะสามารถพิจารณาได้โดยหลักอันเป็นสากล ตัวอย่างเช่น พิธีการถือศีลอดของศาสนาอิสลาม คือพิธีที่ฝึกฝนความอดทน และการบริจาคทานของศาสนาอิสลาม เป็นการรู้จักเสียสละ และรู้จักเอื้อเฟื้อ ทำนองเดียวกันกับการตักบาตร หรือการทำบุญของศาสนาพุทธ ในขณะที่ศีลอภัยบาปของศาสนาคริสต์ ก็สะท้อนถึงแนวคิดเรื่องความเมตตากรุณา หรือการให้อภัยที่มีต่อผู้กระทำผิด ทำนองเดียวกันกับหลักธรรมเรื่องการให้อภัยในศาสนาพุทธ

ในแง่นี้ หากพิจารณาในลักษณะดังกล่าว พิธีกรรมของแต่ละศาสนาอาจถูกพิจารณาได้ว่าไม่มีความขัดแย้งกัน เป็นเพียงแค่การแสดงออกถึงหลักคุณธรรมพื้นฐานในรูปแบบที่ต่างกันเท่านั้นเอง แนวคิดเช่นนี้ย่อมทำให้มนุษย์สามารถศึกษาแนวคิด หรือหลักธรรมของศาสนาต่างๆ ได้อย่างไม่มีอคติ อันนำไปสู่ความสามัคคีกันของผู้นับถือศาสนาต่างๆ ในโลก

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ