ความเป็นเหตุเป็นผลของอริยสัจ 4
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12.1K views



อริยสัจ 4 ถือเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ก็คือหลักธรรมอริยสัจ 4 นี้เอง คำว่า “อริยสัจ” แปลว่า ความจริง (สัจจะ) อันประเสริฐ (อริยะ) มีทั้งหมด 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ความจริงทั้ง 4 ประการนี้ เป็นเรื่องของทุกข์ หากอธิบายในรูปของความเป็นเหตุเป็นผล สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 คู่ คือ ทุกข์กับสมุทัย และ นิโรธกับมรรค

ภาพ : shutterstock.com

 

1. ทุกข์ กับ สมุทัย

“ทุกข์” แปลว่า ความทนได้ยาก หรือ ทนอยู่ไม่ได้ ทั้งทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ เป็นสิ่งที่สรรพชีวิตต้องประสบพบเจอ

“สมุทัย” หรือเรียกชื่อเต็มว่า “ทุกขสมุทัย” แปลว่า สาเหตุแห่งทุกข์ คือ เป็นต้นกำเนิดของความทุกข์ เนื่องจากทุกข์มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองได้ลอยๆ ซึ่งสาเหตุแห่งทุกข์นี้ก็คือ ตัณหา (ความอยาก) ทั้ง กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา

        - กามตัณหา คือ ความพอใจในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
        - ภวตัณหา คือ ความพอใจในความมีตัวมีตน หรือความอยากที่จะเป็น
        - วิภวตัณหา คือ ความพอใจในความขาดสูญ หรือความอยากที่จะไม่เป็น

ความสัมพันธ์ของ ทุกข์และสมุทัย คือ “ความอยาก” เป็นสาเหตุของ “ความทนอยู่ไม่ได้” เมื่อพอใจในรูปที่งาม เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอม รสที่หวาน สัมผัสที่ละเอียดอ่อนนุ่ม หากต้องพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ หรือหากต้องพบกับสิ่งตรงกันข้าม ก็จะทนอยู่ได้ยาก

 

เมื่อหลงยึดติดอยู่ในตัวตนหรือความขาดสูญ ก็จะทนอยู่ไม่ได้เมื่อต้องประสพกับความเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือการบังคับควบคุม ดังนี้

2. นิโรธ กับ มรรค

“นิโรธ” หรือเรียกชื่อเต็มว่า “ทุกขนิโรธ” แปลว่า ความดับทุกข์ คือ ภาวะที่ปราศจากความทนอยู่ไม่ได้ เป็นความสงบระงับ ความเย็น ซึ่งก็คือนิพพาน

“มรรค” หรือเรียกชื่อเต็มว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” แปลว่า ทางปฏิบัติไปสู่ความดับทุกข์ คือเป็นสาเหตุของการดับไปแห่งทุกข์ มีองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ 8” ประกอบด้วย

        - สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
        - สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
        - สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
        - สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ)
        - สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
        - สัมมาวายามะ (เพียรชอบ)
        - สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
        - สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ซึ่งอริยมรรคนี้ โดยย่อก็เป็นการเดินตามทางสายกลาง ระหว่างความสุดโต่งทั้งสองข้าง

ความสัมพันธ์ของนิโรธกับมรรค คือ “การเดินตามทางสายกลาง” เป็นสาเหตุของการสิ้นไปแห่ง “ความทนอยู่ไม่ได้” อธิบายได้ว่า การไม่เข้าไปข้องแวะกับสิ่งสุดโต่งทั้งสองคือ การหลงยึดติดในตัวตน และ การหลงผิดในความขาดสูญ ทำให้ “ความอยาก” สิ้นไป เมื่อความอยากอันเป็นเหตุแห่งทุกข์สิ้นไปแล้ว “ความทนอยู่ไม่ได้” ก็ไม่มีอีกต่อไปนั่นแล


เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษวาโย