ภูมิประเทศของทวีปยุโรป
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 119.9K views



ทวีปยุโรปมีลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ 4 ลักษณะ คือ เขตภูเขาภาคเหนือในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย เขตที่ราบใหญ่ชายฝั่งทะเล เขตที่ราบสูงภาคกลางทวีป และเขตเทือกเขาตอนใต้ 

ภาพ : shutterstock.com

1. เขตภูเขาภาคเหนือในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย

คือ เทือกเขาคโยเลน นอกจากนั้น มีเทือกเขาในสกอตแลนด์ เวลส์ เกาะบริเตนใหญ่ และเกาะไอซ์แลนด์ ลักษณะเด่นที่สำคัญของภูมิประเทศในแถบนี้คือ ชายฝั่งที่ได้รับการกระแทก และกัดกร่อนโดยอิทธิพลของธารภูเขาน้ำแข็ง ที่ไหลลงมาจากบริเวณยอดเขาสูง จนเกิดเป็นการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง ซึ่งปรากฏในรูปของร่องภูเขา หรือหน้าผาชายทะเล ที่มีลักษณะเว้าแหว่ง เรียกว่า ฟยอร์ด เช่น ชายฝั่งนอร์เวย์ และสกอตแลนด์

2. เขตที่ราบใหญ่ชายฝั่งทะเล

ภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล บริเวณประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี โปแลนด์ และรัสเซีย ถึงเทือกเขายูราล ที่ราบดังกล่าวเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของทวีปยุโรป รวมถึงเป็นแหล่งดำรงชีวิตที่สำคัญของชาวยุโรป แหล่งน้ำที่สำคัญของทวีปยุโรปปรากฏในภูมิภาคดังกล่าวเช่น แม่น้ำไรน์ ในเยอรมนี แม่น้ำดานูบ และแม่น้ำโปในอิตาลี แม่น้ำดนีเปอร์ ในยูเคน แม่น้ำโวลก้า ในรัสเซีย แม่น้ำลัวร์ และแม่น้ำเซน ในฝรั่งเศส เขตที่ราบใหญ่ภาคกลางนี้ มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น เป็นเขตที่มีความสำคัญทางด้านเกษตรกรรมมากที่สุดของทวีปยุโรป 

3. เขตที่ราบสูงภาคกลางทวีป

ได้แก่ บริเวณภาคตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส ภาคใต้ของประเทศเยอรมนี และประเทศโปแลนด์ ไล่ไปถึงคาบสมุทรไอบีเรียใน ในสเปน และโปรตุเกส คาบสมุทรบอลข่านในกรีซ ที่ราบสูงอิตาลี และที่ราบสูงรัสเซียตอนกลาง

4. เขตเทือกเขาตอนใต้

เป็นเทือกเขาหินใหม่ ภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาแอลป์ (Alps) ยอดเขาที่สำคัญยอดเขามองต์บลัง เทือกเขาแอพเพนไนส์ เทือกเขาไดนาริกแอลป์ นอกจากนี้ ยังมีเทือกเขาพีเรนิส เทือกเขาแคนตาเบรียน ในสเปน เทือกเขาคาร์เปเธียน ในยูเครน เทือกเขาคอเคซัส มียอดสูงที่สุดชื่อ เอลบรุส 

 การใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการศึกษาพื้นที่นั้น ต้องพิจารณาลักษณะภูมิประเทศที่จะศึกษา เช่น หากต้องการศึกษาลักษณะทางกายภาพ อาจจะต้องใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น แผนที่ หรือภาพถ่ายทางดาวเทียม หากต้องการศึกษาลักษณะทางรัฐกิจของประเทศในภูมิภาคดังกล่าว เช่น ความต้องการในการศึกษาลักษณะของการกระจายตัวของประชากรในเขตเมือง อาจจะต้องใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์เช่น แผนที่รัฐกิจ หรือภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น


 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ