อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรธนบุรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 49K views



ก่อนที่จะมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีกรุงเทพมหานครฯ เป็นราชธานีนั้น ดินแดนไทยเคยมีอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนหน้า หากนับย้อนขึ้นไปได้แก่ กรุงธนบุรี และกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นอู่วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของไทย ที่สืบทอดมาจากสุโขทัย และส่งผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพ : shutterstock.com

 

อาณาจักรอยุธยา

อาณาจักรอยุธยาก่อกำเนิดขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ไหลลงมาบรรจบกัน สันนิษฐานว่า พระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งละโว้ เป็นผู้นำในการรวมแคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นละโว้เข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน และสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นที่ตำบลหนองโสน (บึงพระราม)

 

ในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของอยุธยามีดังต่อไปนี้

ด้านสังคม ชนชั้นในสังคมอยุธยา ประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง พระสงฆ์ ไพร่ และทาส ลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ พระพุทธศาสนามีความสำคัญ โดยพระมหากษัตริย์ต้องเอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องการทำนุบำรุงพุทธศาสนา

ด้านวัฒนธรรม ด้านประติมากรรมมีลักษณะเด่น คือ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง พระพุทธรูปทรงเครื่อง ด้านสถาปัตยกรรม มีลักษณะเด่น คือ เรือนเครื่องสับเป็นเรือนที่สร้างด้วยไม้จริง เรือนเครื่องผูก เจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ด้านวรรณกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ กาพย์เห่เรือ จินดามณี

ด้านเศรษฐกิจ มีการค้าขายกับต่างประเทศ โดยผ่านทางพระคลังสินค้า เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการค้าผูกขาดของรัฐบาล โดยมีกรมท่าขวาทำหน้าที่ติดต่อกับชาติที่อยู่ทางด้านขวา หรือทางตะวันตกของอ่าวไทย เช่น อินเดีย อิหร่าน และกรมท่าซ้ายทำหน้าที่ติดต่อกับชาติที่อยู่ทางด้านซ้ายหรือทางตะวันออกของอ่าวไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น โดยมีสินค้าขาออกสำคัญ คือ สินค้าประเภทของป่า

ด้านการเมืองการปกครอง มีแนวคิดว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ หรือ “เทวราชา” ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) มีการจัดการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์ แบ่งการบริหารออกเป็น 4 กรม คือ กรม “เวียง” ทำหน้าที่ในการรักษาความสงบภายใน กรม “วัง” ทำงานในส่วนของพระราชสำนักและงานด้านยุติธรรม กรม “คลัง” ทำหน้าที่ในการรักษาพระราชทรัพย์ ดูแลการค้า และกรม “นา” ทำหน้าที่ในงานด้านการเกษตร ต่อมามีการปฏิรูปการปกครองเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยดำเนินการบนหลัก 3 ประการ ได้แก่ การดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง การแบ่งแยกหน้าที่ และการถ่วงดุลอำนาจ

ภาพ : shutterstock.com

 

อาณาจักรธนบุรี

ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงกอบกู้บ้านเมืองพร้อมกับปราบชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นแคว้นอิสระได้สำเร็จ และเนื่องจากการฟื้นกรุงศรีอยุธยาซึ่งเสียหายอย่างย่อยยับจากภัยสงคราม ต้องใช้กำลังคนและกำลังทรัพย์มาก ไม่เหมาะสมกับสภาพที่บ้านเมืองเพิ่งจะฟื้นตัวจากสงคราม พระเจ้าตากสินจึงทรงตัดสินพระทัยย้ายราชธานีลงมาทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นมาโดยทรงขนานนามว่า “อาณาจักรธนบุรี” ที่ตั้งของกรุงธนบุรีเหมาะสมกับการเป็นเมืองท่าหน้าด่าน ง่ายต่อการควบคุมการเดินเรือในทะเล ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะแก่การป้องกันรักษาพระนคร

 

ในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของธนบุรีมีดังต่อไปนี้

ด้านสังคม มีการสักเลกข้อมือ เพื่อประโยชน์ในการเกณฑ์แรงงานทั้งยามสงบ และยามสงคราม

ด้านวัฒนธรรม วรรณกรรมที่สำคัญ ได้แก่ กลอนบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ลิลิตเพชรมงกุฎ โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรี นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน

ด้านเศรษฐกิจ เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อันเป็นผลมาจากการที่แรงงานไพร่จำนวนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกเมื่อคราวเสียกรุงฯ สินค้าขาออกสำคัญยังคงเป็นสินค้าประเภทของป่าเช่นเดิม ระบบการค้าสมัยธนบุรียังคงเป็นระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า

ด้านการเมืองการปกครอง ยังคงยึดแบบอย่างการปกครองตามแบบอยุธยา การปกครองส่วนกลางมีอัครมหาเสนาบดีที่สำคัญ 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมถึงจตุสดมภ์ทั้ง 4 กรม

 

อาณาจักรของไทยทั้งอยุธยาและธนบุรีนั้น ล้วนแต่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมทั้งสองนั้น หากพิจารณาแล้วมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ

1. ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง

อารยธรรรมทั้งสองของไทย มีปัญหาเรื่องการรุกรานจากศัตรูภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง สมัยอยุธยามีการรุกรานจากพม่า และประเทศเพื่อนบ้านแทบจะตลอดช่วงสมัยของอาณาจักร ในขณะที่การรุกรานดังกล่าว ก็ยังปรากฏในพงศาวดารของอาณาจักรธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน และกองทัพทหารของอาณาจักรธนบุรี ยังคงต้องรับมือกับการรุกรานของพม่าอย่างต่อเนื่อง

2. ปัจจัยภายในที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง

การเมืองในราชสำนักเป็นปัจจัยภายในที่มีความสำคัญต่ออารยธรรมทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี การเกิดกบฎอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางอำนาจของอาณาจักร ความไร้เสถียรภาพของระบบการเมืองของอาณาจักรอยุธยา เป็นอีกหนึ่งในมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้ามารุกรานอยุธยาได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือปัญหาทางความมั่นคงภายในของราชอาณาจักรจะส่งผลอย่างยิ่งต่อความมั่นคง แต่หากพิจารณาในเชิงวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญา อาณาจักรทั้งสองนั้นกลับมิได้สูญสิ้น หรือสาบสูญไปพร้อมกับการล่มสลายของอาณาจักร ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาต่างๆ ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่อาณาจักรใหม่ คือ กรุงรัตนโกสินทร์ ภูมิปัญญาที่ส่งผ่านมาอย่างไม่ขาดตกบกพร่องนั้น เมื่อผ่านกาลเวลายาวนาน ก็เกิดตกผลึกกลายเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์ตราบจนปัจจุบัน



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ