กลไกราคา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 17.4K views



ในวิชาเศรษฐศาสตร์ แนวคิดเรื่องอุปสงค์ และอุปทานนั้น เป็นแนวคิดที่มีความสำคัญมาก ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของหลักการเรื่องกลไกราคา อันเป็นเนื้อหาที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่อง ดัชนีราคา ปัจจัยกำหนดอุปสงค์อุปทาน และกฎอุปสงค์กฎอุปทาน

ภาพ : shutterstock.com

 

อุปสงค์ หรือ Demand หมายถึง ปริมาณความต้องการซื้อของลูกค้า ที่มีต่อสินค้าและบริการในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง

ในขณะที่อุปทาน หรือ Supply หมายถึง ปริมาณความต้องการขาย หรือปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง

อุปสงค์ และอุปทาน เป็นหลักการที่มีความสัมพันธ์กับดัชนีราคา กล่าวคือ หากสินค้าและบริการชนิดนั้นมีราคาที่สูงขึ้น ปริมาณความต้องการซื้อจะลดต่ำลง ในขณะที่หากราคาลดต่ำลงปริมาณความต้องการซื้อก็จะเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่หลักการของอุปทานมองว่า หากราคาของสินค้าและบริการมีราคาที่ต่ำลง ปริมาณความต้องการขายจะมีอัตราส่วนที่ลดต่ำลง หากราคาของสินค้าและบริการมีการขยับตัวที่สูงขึ้น ปริมาณความต้องการขายจะมีอัตราส่วนที่สูงขึ้นด้วย

ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวอาจมองได้ว่า ตามกฎของอุปสงค์นั้น ปริมาณความต้องการซื้อจะมีอัตราส่วนที่แปรผกผันกับดัชนีราคา ในขณะที่ตามกฎของอุปทานนั้น ปริมาณความต้องการขายนั้น จะมีลักษณะแปรผันไปตามดัชนีของราคานั่นเอง

 

Price High Demand Low
Price High Supply High
Price Low Demand High
Price Low Supply Low

 

วิชาเศรษฐศาสตร์มองว่า ปัจจัยบางชนิดเป็นตัวการที่สำคัญในการกำหนดปริมาณอุปสงค์ หรืออุปทานด้วย ตัวอย่างเช่น รสนิยมสามารถเป็นตัวกำหนดอุปสงค์ และทำให้กฎอุปสงค์นั้น มีลักษณะผิดแปลกออกไปจากกฎที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เช่น ในกรณีปกติผู้ซื้อย่อมที่จะต้องมีความต้องการในสินค้าที่มีราคาต่ำ มากกว่าสินค้าที่มีราคาที่สูง แต่ในกรณีที่ผู้ซื้อบางกลุ่ม หรือบางคนมีรสนิยม หรือมีค่านิยมในลักษณะที่ชื่นชอบสินค้าที่มีชื่อเสียง หรือสินค้าที่มีความนิยมเป็นอย่างสูงจากสังคมในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเป็นสินค้าที่มีราคาแพง จึงส่งผลให้ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงนั้น มากกว่าสินค้าที่มีราคาถูก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผิดออกไปจากหลักการเรื่องอุปสงค์ตามที่ได้กล่าวมา

ภาพ : shutterstock.com

 

หรือในอีกกรณีหนึ่ง หากสินค้าทั้งสองชนิดนั้น เป็นสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ หากสินค้าตัวหนึ่งมีราคาที่สูงขึ้น ประชาชนย่อมที่จะมีความต้องการในสินค้าชนิดนั้นลดลง ในขณะที่สินค้าอีกตัวหนึ่งนั้น มิได้มีราคาที่สูงขึ้น หากแต่กลับได้รับความต้องการจากประชาชนมากขึ้นไปโดยปริยาย (ตามกฏอุปสงค์ ความต้องการที่มากขึ้นนั้น ต้องเกิดจากการที่สินค้าและบริการดังกล่าวมีราคาที่ต่ำลง)

ในทางกลับกัน ในกรณีของสินค้าที่ต้องใช้คู่กัน เมื่อสินค้าตัวหนึ่งมีราคาที่สูงขึ้น สินค้าชนิดนั้นย่อมที่จะมีปริมาณความต้องการที่น้อยลง ซึ่งเป็นไปตามกฏของอุปสงค์ ในขณะที่สินค้าที่จำเป็นต้องใช้คู่กัน ซึ่งมิได้มีราคาที่สูงขึ้นตาม กลับมีปริมาณความต้องการซื้อที่ลดลงตามไปด้วย (ตามกฏอุปสงค์ ความต้องการซื้อที่ลดลงต้องเกิดจากดัชนีราคาที่สูงขึ้น) เพราะว่าสินค้าทั้งสองชนิดนั้น เป็นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้คู่กัน หากสินค้าประเภทแรกไม่ได้รับการซื้อจากประชาชน สินค้าตัวที่สองก็ย่อมที่จะไม่ได้รับความต้องการจากประชาชนด้วยเช่นกัน

ในกรณีดังกล่าวเราจึงพบว่า การศึกษาแนวคิดเรื่องอุปสงค์อุปทานนั้น อาจจะต้องพิจารณาข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขที่สำคัญในหลายประการดังกล่าว ที่ส่งผลให้กฏอุปสงค์และกฏอุปทานนั้นไม่สามารถทำงานตามหลักการ หรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ