สถาบันทางการเงิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5K views



สถาบันทางการเงิน คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการระดมเงินออม การให้กู้ยืมแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การบริโภค หรือการลงทุน สถาบันทางการเงินนั้นมีทั้งที่เป็นธนาคาร ไม่ใช่ธนาคาร สถาบันทางการเงินเฉพาะทาง และธนาคารกลาง

ภาพ : shutterstock.com

สถาบันทางการเงินประเภทที่เป็นธนาคารก็เช่น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากเงิน ให้กู้เงิน หรือทำหน้าที่ในการจัดการกับระบบทางการเงินชนิดต่างๆ ที่ประชาชนต้องการ เช่น การโอนเงิน การฝากเงิน การให้เช่าตู้นิรภัย การซื้อขายเงินตราต่างๆ เป็นต้น

ส่วนสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร กล่าวคือ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน แต่มิได้เป็นหรือมีสถานะที่เป็นธนาคาร ตัวอย่างเช่น บริษัทเงินทุน สหกรณ์ชนิดต่างๆ รวมกระทั่งไปถึงกองทุนรวม หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน แต่มิได้มีสถานภาพที่เป็นธนาคารหลักเช่นธนาคารพาณิชย์ตามที่กล่าวมา

ในขณะที่สถาบันการเงินอีกชนิดหนึ่งก็คือ สถาบันทางการเงินเฉพาะทาง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของสถาบันทางการเงินของประเทศ ตัวอย่างของสถาบันทางการเงินเฉพาะทางเช่น ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะทางเกี่ยวข้องกับเรื่องของการจัดการการเงินในภาคการเกษตร เช่น การให้กู้แก่เกษตรกร หรือการให้เงินกู้เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นธนาคารพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ในการให้กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในเรื่องการซื้อหาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการซ่อมแซม ขยาย ไถ่ถอน จำนำจำนองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของประชาชน

ในขณะที่ธนาคารกลางนั้น ถือเป็นหน่วยงานทางการเงินที่มีความสำคัญอันดับต้นของประเทศ ธนาคารกลางมิได้มีหน้าที่เช่นเดียวกับธนาคารดังที่กล่าวไปแล้ว หากแต่ธนาคารกลางมีหน้าที่ในการควบคุม และดูแลสภาพทางการเงินของประเทศให้อยู่ในลักษณะอันสมดุล ในแง่นี้ นโยบายทางการเงินที่สำคัญของประเทศ ล้วนแต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลางนี้เป็นลำดับแรก

สถาบันทางการเงินต่างๆ ย่อมที่จะต้องขึ้นตรงต่อธนาคารกลาง และรับฟังคำสั่ง รวมถึงแนวนโยบายจากธนาคารกลางอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางของแต่ละประเทศจึงเป็นผู้ต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องเศรษฐกิจ และการเงินเป็นอย่างดี เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจของสังคมโลก ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปัจจุบัน

    

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ