วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4K views



กล่าวสำหรับศาสนาพุทธ ในแต่ละปีจะมีวันสำคัญทางศาสนาหลายวันด้วยกัน เช่นวัน “วิสาขบูชา” ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงพระพุทธเจ้า “วันอาสาฬหบูชา” ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการเกิดขึ้นครบ 3 ประการของพระรัตนตรัย หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา และ “วันมาฆบูชา” ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการประกาศตั้งพระศาสนา และการวางแนวทางในการปฏิบัติตนของพุทธสาวก 

ภาพ : shutterstock.com

วันวิสาขบูชา

 

วิสาขบูชา คือการปฏิบัติบูชา รำลึกถึงพระพุทธคุณ ในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นทั้งวันที่พระองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์นั้น เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 เหมือนกัน โดยวันตรัสรู้ห่างจากวันประสูติ 35 ปี และวันปรินิพพานห่างจากวันประสูติ 80 ปี

 วันวิสาขบูชานี้นับเป็นวันสำคัญที่สุดของศาสนาพุทธ เพราะพระพุทธศาสนาจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการอุบัติของพระพุทธเจ้าในโลก

 เจ้าชายสัทธัตถะทรงประสูติใต้ต้นสาละ ในอุทยานลุมพินีวัน หลังจากประสูติแล้ว พระกุมารทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทรงพระดำเนินไป 7 ก้าว จากนั้นทรงเอ่ย “อาสภิวาจา” ว่า

 “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลก เป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป” 

 อันหมายความถึง การเป็นผู้ที่จะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในวันข้างหน้า

ต่อมาอีก 35 ปี ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ อุรุเวลาเสนานิคม โดยก่อนที่จะตรัสรู้นั้น พระองค์เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา แล้วทรงปูบัลลังก์ด้วยหญ้าคา 8 กำมือใต้ร่มโพธิ์ริมแม่น้ำเนรัญชรา ทรงนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แล้วตั้งใจมั่นว่าจะไม่ลุกไปจากบัลลังก์นี้จนกว่าจะตรัสรู้ แม้ว่าเลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปก็ตามที

ปรากฏว่าพญามารมาผจญ อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ของพระองค์ และสั่งให้พระองค์ลุกออกจากบัลลังก์นั้น แต่พระองค์ได้ตรัสตอบว่า บัลลังก์นี้เกิดแต่บารมีของพระองค์ที่ทำไว้นับเป็นอสงไขย พระแม่ธรณีเป็นพยาน จึงได้บีบมวยผมที่ชุ่มเพราะการกรวดน้ำของพระโพธิสัตว์ตั้งแต่อดีตชาติ น้ำจำนวนมหาศาลจึงไหลบ่าเข้าท่วมทัพพญามารและเสนา จนจมหายไปทั้งสิ้น จากนั้นพระองค์ทรงเจริญสมาธิตลอดทั้งคืน

ในปฐมยามทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” คือ ระลึกชาติได้

มัชฌิมยามทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือ เห็นการตายการเกิดของสรรพสัตว์

ปัจฉิมยาม ทรงรู้แจ้ง อริยสัจ 4 บรรลุ “อาสวักขยญาณ” สามารถตัดอาสวกิเลสได้จนหมดสิ้น ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนนั้นเอง

เมื่อพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา ได้เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ระหว่างต้นสาละคู่ ในสาลวโนทยาน ของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา โดยก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าเสวยสูกรมัทวะที่นายจุนทะตั้งใจปรุงถวาย จนประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นเลือด)

จากนั้นเสด็จไปสู่เมืองกุสินารา รับสั่งให้พระอานนท์จัดพระแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ทรงประทับในท่าสีหไสยาสน์ หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ จากนั้นทรงบวชให้แก่สุภัททะปริพาชก ซึ่งนับเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทารูปสุดท้าย

ทรงประทานปัจฉิมโอวาท ให้พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์สืบไป และเตือนพุทธบริษัททั้งหลายให้อยู่ในความไม่ประมาท จากนั้นทรงเข้าฌานสมาบัติ และเสด็จดับขันธปรินิพพานในคืนนั้น

 

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชาเกิดขึ้นหลังจากวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า 2 เดือน คือในวันเพ็ญเดือน 8 พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดปัญจวัคคีย์ ที่เคยถวายการดูแลเมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

เมื่อแรกนั้น วัคคีย์ทั้ง 5 คิดจะไม่ต้อนรับพระองค์ เพราะสำคัญว่าทรงหลีกหนีจากการบำเพ็ญอย่างเอกอุเสียแล้ว ต่อเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาใกล้ จึงพากันออกไปต้อนรับ และเมื่อได้สดับ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง วัคคีย์ผู้มีอาวุโสสูงสุดคือ โกณฑัญญะ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน จึงขอบวชตามพระพุทธเจ้า

จึงนับว่าวันนั้นมีพระรัตนตรัยหรือดวงแก้วครบทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

 

วันมาฆบูชา

วันมาฆะบูชาเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ภายหลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 9 เดือน คือเป็นวันที่เกิดการประชุมกันครั้งสำคัญในพระพุทธศาสนา โดยมีภิกษุเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในคืนนั้น จำนวนถึง 1,250 รูป และมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ได้แก่

1. ภิกษุทั้งหมดนั้นมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
2. ภิกษุทั้งหมดนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
3. ภิกษุทั้งหมดนั้นเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้
4. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ

ในวันดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ “การละความชั่ว การทำความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส”

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษวาโย