ความแตกต่างของความเชื่อทางศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 21.8K views



การยอมรับความแตกต่างของความเชื่อทางศาสนาของบุคคลอื่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของมนุษยชาติในการสร้างสังคมที่สงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง เรื่องของความเชื่อความศรัทธา เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่คนนอกไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย ตลอดจนบังคับฝืนใจ การเลือกนับถือศาสนาใด ไม่เลือกนับถือศาสนาใด หรือเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใดเลย ก็ล้วนเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ควรมีใครไปตัดสินถูกผิด ดังนี้แล้ว เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต่างศาสนาต่างความเชื่อ ก็ต้องไม่เอาศรัทธาของตนเป็นใหญ่ ต้องให้เกียรติศาสนิกชนต่างศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน พึงเคารพศาสนกิจ ศาสนพิธีของศาสนานั้นๆ ให้เหมือนที่เคารพในศาสนพิธีของตนเอง กล่าวโดยรวมคือต้องมีการปฏิบัติตนต่อศาสนิกชนอื่นในสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม

ภาพ : shutterstock.com

 การเรียนรู้ศาสนาที่ตนนับถืออย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งที่ศาสนิกชนพึงกระทำ เพื่อให้เข้าใจหลักคำสอนขององค์ศาสดาอย่างถ่องแท้ ทว่าการเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของศาสนาอื่น ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

 ทั้งนี้ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อการเปรียบเทียบว่าคำสอนของศาสนาใดดีกว่า ถูกต้องกว่า อันจะทำให้เกิดการวิวาทะ การดูหมิ่นดูแคลนกัน แต่เป็นการศึกษาเพื่อให้เห็นความเหมือนกัน ในการมุ่งจรรโลงสังคม ส่งเสริมศีลธรรม และมนุษยธรรมของศาสนาทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา เพื่อให้เกิดความถ่อมใจว่า คุณธรรมและความดีไม่ได้จำกัดเฉพาะเจาะจงภายในศาสนาที่ตนนับถือเท่านั้น และเพื่อให้เห็นความต่างในบริบทของสังคม ภาษา วัฒนธรรม จารีต และพิธีกรรมในศาสนาต่างๆ เพื่อให้เกิดความใจกว้าง ยอมรับในการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปของศาสนิกชนศาสนาอื่น

 ตัวอย่างของการทำความเข้าใจหลักปฏิบัติของศาสนาอื่น เช่น ชาวพุทธไม่ควรมองพิธีสารภาพบาปของชาวคริสต์ว่า เป็นเรื่องที่ค้านกับกฎแห่งกรรม แล้วดูแคลน แต่ควรเข้าใจพิธีนี้ในแง่ของการปลุกจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ผู้ที่ยอมรับว่ากระทำผิดย่อมต้องเกิดความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป หรือที่ชาวพุทธเรียกว่า “หิริโอตัปปะ” นั่นย่อมหมายถึงว่า จุดประสงค์ของศาสนาคริสต์ในข้อนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากหลักธรรมในศาสนาพุทธเลย

 ชาวคริสต์ หรืออิสลาม ก็ไม่ควรดูแคลนการกราบไหว้พระพุทธรูปของชาวพุทธเช่นกัน จริงอยู่ที่ชาวพุทธบางส่วนเข้าใจว่ารูปปั้นรูปเคารพมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว แต่แท้ที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยตรัสให้สาวกสักการะอิฐหินดินทรายเลย

 การกราบไหว้คือการแสดงความหมายว่า มีความเคารพในคุณธรรมของผู้ที่ได้รับการบูชา ภายหลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว จึงมีการปั้นพระพุทธรูปขึ้นเพื่อระลึกถึงเท่านั้น การกราบพระพุทธรูปแท้จริงไม่ใช่การกราบไหว้ปูน หรือโลหะ แต่เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธคุณ พระพุทธรูปเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น

 การอวดอ้างความพิเศษของศาสนาที่ตนนับถือ และดูแคลนศาสนาอื่น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ อย่างไรก็ดี นิสัยนี้สามารถแก้ไขได้โดยการเปิดใจให้กว้าง เช่น ชาวพุทธไม่ควรมองว่าการ “ปฏิสนธินิรมล” ของ “พระแม่มารีย์” เป็นเรื่องเหลวไหล เป็นไปไม่ได้ แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ก็ควรให้เกียรติในความเชื่อของชาวคริสต์ และควรมองเรื่องนี้เป็นเหตุเหนือธรรมชาติ หรือเป็นสัญญะที่มีความนัยแฝงอยู่ ซึ่งก็เหมือนกับเรื่องที่ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ราชกุมาร “เดินได้ 7 ก้าว” และ “พูดได้” ตั้งแต่เมื่อแรกประสูติเช่นกัน

 กล่าวโดยสรุป การศึกษาศาสนาให้มาก ทำให้เห็นข้อดีของศาสนาอื่นมากขึ้น เข้าใจความแตกต่างของศาสนาอื่นมากขึ้น เห็นปัญหาในความเชื่อทางศาสนาของตนเอง และเข้าใจคำสอนในศาสนาที่ตนเองนับถือมากขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการเปิดใจยอมรับความแตกต่างแทนที่จะดูหมิ่นถิ่นแคลนกัน หรือยกเอาหลักการของศาสนาที่ตนนับถือไปข่มศาสนาอื่นๆ

 เมื่อมีใจเปิดกว้าง การกระทบกระทั่งระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกันก็จะไม่เกิดขึ้น มนุษยชาติก็จะสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษวาโย