อาณาจักรสุโขทัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.4K views



ก่อนที่จะมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีกรุงเทพมหานครฯ เป็นราชธานีนั้น ดินแดนไทยเคยมีอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนหน้า โดยอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดของไทยที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ อาณาจักรสุโขทัย หรือกรุงสุโขทัย ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทยที่รุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพ : shutterstock.com

 

ประวัติการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ได้รับการจารึกไว้ที่วัดศรีชุม มีความว่า เมื่อสิ้นรัชกาลของ พ่อขุนศรีนาวนำถุม ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยแล้ว พวกขอมสบาดโขลญลำพง ได้เข้ามายึดครองเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย

ต่อมาภายหลัง พ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นโอรสของ พ่อขุนศรีนาวนำถุม และ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง พระสหายของพ่อขุนผาเมือง ได้ร่วมมือกันขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไปได้สำเร็จ จากนั้น พ่อขุนผาเมือง ได้มอบให้ พ่อขุนบางกลางหาว ปกครองสุโขทัย และศรีสัชนาลัยต่อไป เฉลิมพระนามว่า ศรีอินทราทิตย์ โดยทรงเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง แห่งสุโขทัย

 

ในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของสุโขทัยมีดังต่อไปนี้

ด้านสังคม ชนชั้นในสังคมประกอบด้วย กษัตริย์ เจ้า ขุน พระสงฆ์ ไพร่ และทาส นับถือพุทธศาสนานิกายหินยานแบบลังกาวงศ์ โดยรับผ่านทางนครศรีธรรมราช

ด้านวัฒนธรรม พระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พญาลิไท ทรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “เตภูมิกถา” มรดกด้านวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของสุโขทัย คือ ตัวอักษรไทย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น เจดีย์ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม เจดีย์ทรงลังกา งานประติมากรรม ได้แก่ เครื่องสังคโลก การสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ และปูนปั้น โดยพระพุทธรูปองค์สำคัญของสมัยสุโขทัย ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศากยมุนี

ด้านเศรษฐกิจ มีแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเรียกว่า ตลาดปสาน สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ของป่า เครื่องสังคโลก มีการให้เสรีภาพในการค้าขาย โดยไม่เก็บภาษีผ่านด่านที่เรียกว่า “จังกอบ” หรือ “จกอบ”

ด้านการเมืองการปกครอง แบ่งเขตการปกครองเป็น หนึ่ง เมืองราชธานี สอง เมืองลูกหลวง หรือ เมืองหน้าด่าน หรือ หัวเมืองชั้นใน สาม เมืองพระยามหานคร หรือ หัวเมืองชั้นนอก และสี่ เมืองออก หรือ เมืองขึ้น ในสมัยสุโขทัยตอนต้นนั้นมีการปกครองแบบ “ปิตุราชา” หรือพ่อปกครองลูก ต่อมาได้รับการเปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบ “ธรรมราชา” คือกษัตริย์ผู้ทรงธรรม

ไตรภูมิพระร่วงนั้น ถือเป็นงานวรรณกรรมทางศาสนา ที่มีผลโดยตรงต่อระบบการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย กล่าวคือ เป็นการใช้หลักธรรม และความเชื่อทางศาสนา เพื่อปกครองพลเมืองให้อยู่ในกรอบศีลธรรมแบบที่ผู้ปกครองต้องการ

 

ความเสื่อมของกรุงสุโขทัยเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 จากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ปัญหาความไม่มั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวคือ การแย่งชิงราชสมบัติระหว่างเชื้อพระวงศ์ของสุโขทัย ทำให้อำนาจในการปกครองอ่อนแอลง

2. การเกิดขึ้นของอาณาจักรอยุธยาทางตอนใต้ ซึ่งขวางกั้นทางน้ำ หรือทางออกทะเลของอาณาจักรสุโขทัย ทำให้ระบบเศรษฐกิจของอาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลง ในท้ายที่สุดจึงถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาในท้ายที่สุด



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ