การนับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์แบบไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2.9K views



การนับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์นั้น มีการใช้ปีศักราชแตกต่างกันไป ในด้านประวัติศาสตร์ไทยนั้น นิยมใช้พุทธศักราช จุลศักราช มหาศักราช และรัตนโกสินทร์ศก แล้วแต่ความนิยมในแต่ละช่วงเวลา

ภาพ : shutterstock.com

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของประวัติศาสตร์ไว้ว่า “วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมา หรือเรื่องราวของประเทศชาติเป็นต้น ตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน” เฮโรโดตัส (Herodotus) ชาวกรีก ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์” จากผลงานสำคัญคือ การเขียนบันทึกเรื่องราวสงครามระหว่างกรีก กับเปอร์เซีย ส่วนในประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีไทย” ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “ประวัติศาสตร์” ขึ้นมา

ด้วยความแตกต่างในระบบอารยธรรมต่างๆ นำไปสู่ความแตกต่างในเชิงการแบ่งแยกของยุคสมัยของอารยธรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องไปกับปัจจัยทางวัฒนธรรมอื่น เช่น ศาสนา หรือความเชื่อ สำหรับอารยธรรมที่มีศาสนาพุทธเป็นรากฐานนั้น การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์จะใช้ระบบ “พุทธศักราช” (พ.ศ.) เป็นหลัก ประเทศไทยมีการใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการคือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการนับ 2 แบบ ได้แก่

1. แบบปีย่าง คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน นับเป็น พ.ศ. 1 ทันที

2. แบบปีเต็ม คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไปแล้ว 1 ปี จึงนับเป็น พ.ศ. 1

ภาพ : shutterstock.com

ในขณะที่อารยธรรมในแถบสุวรรณภูมิ ช่วงก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยนั้น นิยมใช้ระบบมหาศักราช (ม.ศ.) ในการแบ่งยุคสมัย โดยใช้ตั้งแต่สมัยก่อนการสถาปนาสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ มหาศักราช + 621 = พุทธศักราช

ภาพ : shutterstock.com

ภายหลังจากการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมใช้การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ด้วยระบบ จุลศักราช (จ.ศ.) ทั้งนี้พบการใช้จุลศักราชในหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ จุลศักราช + 1181 = พุทธศักราช

ภาพ : shutterstock.com

ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีระบบการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์โดยใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) โดยรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 เริ่มนับในปี พ.ศ. 2325 ซึ่งตรงกับปีที่สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี วิธีการเทียบเป็นพุทธศักราช คือ รัตนโกสินทร์ศก + 2324 = พุทธศักราช

 

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ