การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 9.4K views



การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านภาวะมลพิษ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่ให้กระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ประกอบด้วย แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และแนวทางการดำเนินชีวิตในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ภาพ : shutterstock.com

แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่เน้นให้มนุษย์คำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ มีการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนคำนึงถึงการสร้างความสมดุลใน 3 มิติของการพัฒนา ได้แก่

- มิติการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน กล่าวคือ เศรษฐกิจที่มีคุณภาพ เสถียรภาพ และมั่งคั่ง

- มิติการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน กล่าวคือ สังคมคุณภาพ มีภูมิคุ้มกัน และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

- มิติการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน กล่าวคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับที่สามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมได้

เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) อาศัยกรอบแนวคิดการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันทั้ง 3 มิติ ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ กันยายน พ.ศ. 2558 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2573 เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนมี 17 ข้อ ประกอบด้วย

1. ขจัดความยากจน

2. ขจัดความหิวโหย

3. การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

4. การศึกษาที่เท่าเทียม

5. ความเท่าเทียมกันทางเพศ

6. การจัดการน้ำและสุขาภิบาล

7. พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

8. การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน

10. ลดความเหลื่อมล้ำ

11. เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน

12. แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

13. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

14. การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

15. การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก

16. สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก

17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาพ : shutterstock.com

หลักการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

เป็นการจัดทำนโยบาย แผนการป้องกัน แก้ไข และการควบคุม เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมีเหลือให้คนรุ่นหลังได้ใช้ โดยมีหลักการบริหารที่สำคัญ ได้แก่

1. การพัฒนาที่ยั่งยืน

2. การบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศ คือ คำนึงถึงความสัมพันธ์เชิงระบบ หรือองค์รวม เพื่อระบบนิเวศที่สมดุล

3. การระวังไว้ก่อน คือ เป็นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้า

4. ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย คือ ผู้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู

5. ผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นผู้จ่าย

6. ความเป็นหุ้นส่วนของรัฐ-เอกชน คือ การสร้างความร่วมมือกันในการรับผิดชอบ

7. ธรรมาภิบาล คือ การบริหารจัดการที่ดีทั้งด้านศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม ความถูกต้องชอบธรรม

8. การขยายความรับผิดชอบแก่ผู้ผลิต คือ การเพิ่มขอบข่ายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์

9. การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

10. สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ทรัพยากรธรรมชาติ

 

ภาพ : shutterstock.com

แนวทางการดำเนินชีวิตในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เป็นการนำหลัก 7R มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย

1. Reduce คือ ลดปริมาณการใช้ เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าเพื่อเป็นการลดประมาณขยะ

2. Reuse คือ ใช้ซ้ำ เช่น เช่น นำกระดาษที่เขียนเพียงหน้าเดียว มาใช้ประโยชน์เช่นการเขียนอีกหน้า

3. Recycle คือ นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำกล่องนมไปแปรรูป

4. Repair คือ ซ่อมแซม เช่น การหมั่นตรวจสอบ ซ่อมบำรุง สิ่งของให้สามารถใช้งานได้อยู่เสมอ

5. Refuse คือ การปฏิเสธ เช่น การไม่ใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6. Return คือ การตอบแทน เช่น การส่งเสริมอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการตอบแทนต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ทดแทน

7. Rethink คือ การเปลี่ยนความคิด เช่น การปรับทัศนคติและแนวคิด หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม



 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง