โอวาทของพระพุทธเจ้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 86.2K views



ภายหลังพระศาสนาของพระศาสดาได้ตั้งมั่นขึ้นแล้วในโลก ได้มีผู้ศรัทธาในพระพุทธองค์และพระธรรมวินัย เข้ามาขอบวชเป็นภิกษุมากมาย เมื่อพระพุทธศาสนามีพุทธบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พระพุทธองค์จึงทรงให้โอวาท หรือคำสอนแก่ภิกษุทั้งหลาย เป็นหลักยึดเหนี่ยวในการปฏิบัติ ไม่ให้เกิดความวุ่นวายสับสน เพื่อความเรียบร้อยและงดงาม เป็นที่ศรัทธาของผู้คนทั้งภายนอกและภายใน ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาในโอวาทคราวต่างๆ ที่ทรงแสดงแก่ภิกษุสงฆ์ และพุทธบริษัททั้งหลาย

ภาพ : shutterstock.com

การแสดงปฐมเทศนา ถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นครั้งแรก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสีนั้นคือ ธัมมจักกัปวัตนสูตร อันมีความหมายว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ประกอบด้วย มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง

หลังจากทรงแสดงเทศนาแล้ว โกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน จึงขอบวชกับพระพุทธเจ้า และได้กลายเป็นภิกษุรูปแรกของพระพุทธศาสนา ทำให้องค์ประกอบของศาสนาครบทั้ง 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (ภิกษุ 5 รูป) รวมเรียกว่า “พระรัตนตรัย”

ภายหลังการตรัสรู้ได้ 9 เดือน หรือถัดจากปฐมเทศนา 7 เดือน พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นครั้งแรก ที่เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ในวันเพ็ญกลางเดือน 3 ซึ่งกลายมาเป็นวัน “มาฆปูรณมีบูชา” หรือ วันมาฆะบูชา จวบจนปัจจุบันนี้

 

โอวาทปาฏิโมกข์ หรือ โอวาท 3 มีสมญาว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา ใจความแบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของพระพุทธศาสนา ดังนี้

- คาถาแรก ว่าด้วยอุดมการณ์ 4 อย่างคือ “มีความอดทนอดกลั้น (ขันติ)” หนึ่ง “มุ่งพระนิพพาน” หนึ่ง “ไม่ฆ่าสัตว์” หนึ่ง “ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น” หนึ่ง
- คาถาที่สอง ว่าด้วยหลักการ 3 อย่างคือ “การไม่ทำความชั่วทั้งปวง” หนึ่ง “การทำความดีให้ถึงพร้อม” หนึ่ง “การทำจิตของตนให้ผ่องใส” อีกหนึ่ง
- คาถาที่สาม ว่าด้วยวิธีการ 6 อย่างคือ “การไม่กล่าวร้าย” หนึ่ง “การไม่ทำร้าย” หนึ่ง “มีความสำรวมในพระปาฏิโมกข์” หนึ่ง “เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค” หนึ่ง “นั่งและนอนในที่อันสงัด” หนึ่ง “มีความเพียรในอธิจิต” อีกหนึ่ง

ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า คือ “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

โอวาทสุดท้ายของพระพุทธองค์ที่แสดงในสาลวโนทยาน เมืองกุสินาราก็คือ “อัปปมาทธรรม” หรือความไม่ประมาท เป็นการสอนให้สาวกทั้งหลายครองตนอยู่ในความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต และหาทางปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยรอบคอบ

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง