พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7K views



แม้ว่าศาสนาเกือบทุกศาสนาจะประกอบไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์มากบ้างน้อยบ้าง แต่ศาสนาต่างๆ ก็มีแง่มุมของการอธิบายด้วยหลักเหตุผล อย่างที่นิยมกันในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาที่เน้นปัญญา การตื่นรู้ โดยหลักการใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองที่สำคัญได้แก่ “กาลามสูตร” ที่ทรงสอนไม่ให้เชื่ออะไรโดยง่าย และ “โยนิโสมนสิการ” หลักในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและแยบคาย

ภาพ : shutterstock.com

ทั้งวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนามีหลักความเชื่อเช่นเดียวกัน ในเรื่องของการพิสูจน์ทุกครั้งก่อนจะเชื่อในเรื่องใด ดังหลักคำสอนที่ปรากฏในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าทรงให้หลักการในการพิจารณาว่าไม่ควรรีบด่วนเชื่อสิ่งที่ได้รับรู้มา 10 ประการ ดังนี้

1. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการฟังตามกันมา
2. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการนับถือสืบกันมา
3. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการเล่าลือต่อกันมา
4. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการอ้างคัมภีร์
5. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการเดาเอาเอง
6. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการคาดคะเน
7. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะการตรึกตรองตามเหตุและผล
8. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะตรงกับความเห็นของตน
9. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ
10. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะท่านเป็นครูของเรา

 

นอกจากนี้แล้ว กระบวนการคิดตามนัยพระพุทธศาสนา ก็มีความคล้ายคลึงกับกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน โดยในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า คิดแบบเหตุผล หรือคิดแบบอริยสัจ ซึ่งเป็นเพียงวิธีหนึ่งใน 10 วิธีคิดตามแนวทางโยนิโสมนสิการ ดังนี้

- วิธีคิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย
- วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ
- วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
- วิธีคิดแบบอริยสัจ
- วิธีคิดเชื่อมโยงหลักการและความมุ่งหมายให้สัมพันธ์กัน
- วิธีคิดแบบคุณ โทษ และทางออก
- วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม
- วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน
- วิธีคิดแบบจำแนกประเด็นและแง่มุมต่างๆ หรือการมองหลายๆ มุม


เรียบเรียงโดย  : นำโชค อุนเวียง