กฎแห่งกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.2K views



แนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า การกระทำของบุคคลเป็นเหตุให้เกิดผลของการกระทำนั้น การทำดีย่อมส่งผลเป็นบุญ การทำชั่วย่อมส่งผลเป็นบาป แลผลของกรรมนั้น (วิบาก) ย่อมคืนสนองต่อตัวผู้กระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การส่งผลของกรรมบางครั้งก็รวดเร็วมาก ดุจชกกำแพง ย่อมเจ็บกำปั้นในทันที บางครั้งก็ต้องใช้เวลากว่ากรรมจะส่งผล ดุจหว่านข้าวในนา ต้องรอข้ามฤดูกว่าข้าวจะออกรวง การเสวยวิบากบางครั้งก็เป็นเรื่องข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ ทำให้ความเชื่อในกฎแห่งกรรมถูกท้าทายในสมัยปัจจุบัน ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุด กฎแห่งกรรมก็อาจได้รับการพิจารณาในฐานะแนวคิดที่ช่วยธำรงรักษาความสงบสุขในสังคม ไม่ว่ายุคสมัยไหน

ภาพ : shutterstock.com

กฎแห่งกรรมเป็นความเชื่อที่ศาสนาส่วนใหญ่ในชมพูทวีปอ้างอิง เป็นพื้นฐานทางจริยศาสตร์ที่มีร่วมกันระหว่างศาสนาต่างๆ ในอินเดียทั้ง พราหมณ์ (ฮินดู) เชน และพุทธ

แนวคิดของกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า การกระทำของบุคคลเป็นเหตุให้เกิดผลของการกระทำนั้น การกระทำดีย่อมส่งผลเป็นบุญ การกระทำชั่วย่อมส่งผลเป็นบาป แลผลของกรรมนั้น (วิบาก) ย่อมคืนสนองต่อตัวผู้กระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ศาสนาพุทธให้ความสำคัญกับหลักการเรื่องเหตุและผลเป็นที่ตั้ง การทำความดีนั้นย่อมได้รับผลดีตอบสนอง และการทำความชั่วนั้นย่อมได้รับผลชั่วตอบสนอง

การตอบสนองของกรรมดี และกรรมชั่ว อาจตอบสนองโดยทันที หรือสามารถเห็นได้ในช่วงชีวิตนี้ กล่าวคือ การทำความดีย่อมได้รับผลตอบสนองจากบุคคลรอบข้างในทางที่ดี ตัวอย่างเช่น เมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น เราย่อมได้รับการช่วยเหลือตอบกลับจากผู้อื่น หรือในทางกลับกัน การกระทำความชั่วก็ย่อมได้รับผลตอบสนองอย่างชัดเจนในปัจจุบัน เช่น การขโมยของย่อมถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลในลักษณะนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นทันที หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถพบได้ในช่วงชีวิตหนึ่งของบุคคล

กรรมบางอย่างก็อาจไม่ทันส่งผลในชาติปัจจุบัน แต่ส่งผลข้ามภพข้ามชาติ ศาสนาพุทธมีแนวคิดว่า เมื่อมนุษย์นั้นได้ตายลง ดวงจิตของมนุษย์ที่ยังไม่สิ้นกิเลส จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ต่อไป กรรมย่อมติดเนื่องไปกับดวงจิตของมนุษย์ด้วย จนกว่าบุคคลนั้นจะเข้าสู่สภาวะแห่งการบรรลุธรรมโดยสมบูรณ์

หากพิจารณาแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล ระหว่างความดีกับความชั่วในลักษณะดังกล่าว จะพบว่าแนวคิดของศาสนาพุทธนั้น มีพื้นฐานที่สำคัญอยู่ที่การมองเห็นเป้าหมายเรื่องความสงบสุข และการดำรงอยู่อย่างมีสันติ

อาจมองได้ว่าแนวคิดเรื่องกรรมนั้น เป็นเพียงอุบายที่ทำให้มนุษย์มีความหวาดกลัวต่อผลของการทำชั่ว และมีกำลังใจต่อการกระทำดี ซึ่งย่อมส่งผลให้เกิดความสงบสุข และความเรียบร้อยในสังคม


 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุ่นเวียง