การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 151.3K views



ตามอุดมคติของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจรัฐจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยสาธารณะ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนที่ถือเป็นเจ้าของประเทศ รัฐธรรมนูญไทยจึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยให้อำนาจทางกฎหมายกับองค์กรอิสระจำนวนหนึ่ง ในการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง รวมถึงตัดสินลงโทษการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ภาพ : shutterstock.com

การตรวจสอบทรัพย์สิน

เป็นมาตรการเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยการใช้ตำแหน่งของตน โดยกำหนดให้นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน รวมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทุกครั้ง เมื่อเข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ประกอบด้วย

- นายกรัฐมนตรี
- รัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- สมาชิกวุฒิสภา
- ข้าราชการการเมืองอื่น
- ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

เป็นมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ในการแสวงหาผลประโยชน์ขณะดำรงตำแหน่ง ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้แก่

- การกระทำต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา อาทิ ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือแทรกแซง หรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ
- การห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาทิ การแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่งของข้าราชการ การให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง
- การห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งใดๆ ในบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร
- การห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
- การจำกัดสิทธิของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในการถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

 

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ

รัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้มีองค์กรอิสระ ที่มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ดังนี้

- ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่พิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ให้คำปรึกษา แนะนำ เสนอแนะ เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน

 

เรียบเรียงโดย : นำโชค อุนเวียง