อาขยานและร้อยกรอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.8K views



วรรณกรรมและวรรณคดีที่มีวรรณศิลป์ดีเลิศ มักมีคนจดจำไปใช้ท่อง กล่าวหรือแสดงเพื่อให้คติ ข้อคิด หรือแม้แต่เพื่อความบันเทิงอยู่เนืองนิตย์ ด้วยบทร้อยแก้วหรือร้อยกรองนั้นๆ มีความงดงามทางภาษาเป็นเลิศ ยังให้เกิดความไพเราะเมื่อท่องออกมา บ้างก็เป็นหลักภาษาที่ต้องจำ เมื่อทำเป็นบทอาขยานให้ท่องจำ ก็จะช่วยให้จำได้โดยง่าย

ภาพ : shutterstock.com

การท่องจำ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ มีคุณค่า การท่องจำคือเรื่องจำเป็นในการเรียนเกือบทุกสาขาวิชาในทุกระดับ การท่องจำบ่อยๆ จะทำให้เราจำเนื้อหาที่ท่องได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องสูตรคูณในวิชาคณิตศาสตร์ ท่องจำตารางธาตุในวิชาเคมี ท่องจำตัวบทข้อกฎหมายในวิชานิติศาสตร์ ตลอดจนการท่องจำบทสวดบาลีของพระภิกษุ สามเณร หรือฆราวาสทั่วๆ ไป

ในวิชาภาษาไทย การท่องจำใช้กับการท่องบทอาขยาน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจดจำบทประพันธ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนและร่ายได้อย่างไม่รู้ลืม สามารถหยิบยกไปพูดหรือเขียนอ้างอิงได้ทันทีมิพักต้องเปิดตำราดู

การท่องบทอาขยานนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะบทประพันธ์ที่ไพเราะมักมีเสียงสัมผัสสระที่งดงามร้อยรัดถ้อยคำแต่ละวรรคไว้ด้วยกันอยู่แล้ว ทั้งยังมีสัมผัสอักษรในวรรคที่ยิ่งช่วยให้ง่ายต่อการจำมากขึ้นไปอีก เช่น

“ในเพลงปี่ ว่าสาม พี่พราหมณ์เอ๋ย

ยังไม่เคย ชมชิด พิสมัย

ถึงร้อยรส บุปผา สุมาลัย

จะชื่นใจ เหมือนสตรี ไม่มีเลย

พระจันทร จรสว่าง กลางโพยม

ไม่เทียมโฉม นางงาม เจ้าพราหมณ์เอ๋ย

แม้นได้แก้ว แล้วจะค่อย ประคองเคย

ถนอมเชย ชมโฉม ประโลมลาน”

(จาก “พระอภัยมณี” ของ “สุนทรภู่”)

ปัญหาที่ทำให้ผู้เรียนท่องอาขยานไม่ได้คือ การไม่เข้าใจศัพท์ที่กวีใช้ในร้อยกรอง เกิดจากภาษาที่ใช้เป็นภาษาเก่าคำศัพท์โบราณหนึ่ง จากการแปลงประดิษฐ์อักษรให้เข้ากับฉันทลักษณ์อีกหนึ่ง เมื่อไม่อาจเข้าใจศัพท์สำนวนจึงไม่เกิดภาพพจน์ ไม่สามารถจินตนาการตามจนเกิดเป็นภาพจำได้

ทางแก้คือ การศึกษาค้นคว้าศัพท์สำนวนที่ไม่เข้าใจให้กระจ่างแจ้ง เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเห็นภาพตามที่กวีรจนาเอาไว้ได้ กอปรกับความสละสลวย และความไพเราะเหมาะเจาะคล้องจองของคำประพันธ์ ก็จะทำให้ผู้อ่านได้รับสุนทรียรสในการท่องอาขยาน และเกิดการจดจำได้ในที่สุด

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว