อิทธิพลของภาษาต่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 88.1K views



การยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทย ทำให้ภาษาไทยมีคำใช้มากขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความเปิดกว้าง เรียบง่าย และยืดหยุ่น สามารถนำคำภาษาอื่นมาใช้ได้โดยไม่ต้องมาคิดสร้างคำใหม่ โดยการยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ เกิดจากการติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งทางการทูต การค้า และการแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมและศาสนา ส่งผลให้ภาษาไทยมีคำยืมจากภาษาต่างประเทศหลากหลายภาษา ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาจีน คำชวา คำมลายู คำภาษาอังกฤษ คำฝรั่งเศส คำโปตุเกส คำภาษาอาหรับ เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

การยืมคำจากภาษาบาลีและสันสกฤต

คำยืมจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย สามารถแบ่งเป็นประเภทได้ดังต่อไปนี้

1. ใช้เป็นคำราชาศัพท์ คำราชาศัพท์หมายรวมถึงคำที่คนทั่วไป ใช้กับพระสงฆ์และพระสงฆ์ใช้ในหมู่พระสงฆ์ด้วยกันเอง และยังหมายรวมถึงคำภาษาแบบแผนและคำสุภาพทั่วๆ ไป ซึ่งใช้กับข้าราชการและสุภาพชนอีกด้วย
2. ใช้เป็นศัพท์เฉพาะทางศาสนา ศัพท์เฉพาะเหล่านี้นิยมสร้างหรือยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต
3. ใช้ในการเขียนวรรณคดี ร้อยแก้วและร้อยกรอง
4. ใช้ในภาษามาตรฐานหรือใช้เป็นคำสุภาพ ใช้ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน|
5. ใช้เป็นศัพท์บัญญัติ หรือศัพท์เฉพาะทางวิชาการ
6. ใช้เป็นคำสามัญ คือคำในภาษาพูดที่ใช้สนทนากันทั่วไปในชีวิตประจำวัน
7. ใช้เป็นชื่อเฉพาะ ชื่อวัน เดือน ดวงดาวและกลุ่มดาวบนท้องฟ้า เทพเจ้าทั้งชายและหญิง ตลอดจนชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ ตำนาน และเทพนิยายต่างๆ ชื่อสถานที่และอื่นๆ เช่น ชื่อจังหวัด อำเภอ แม่น้ำและภูเขา เป็นต้น

 

ข้อแตกต่างระหว่างคำที่มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

ภาษาบาลีและสันสกฤตมีข้อแตกต่างหลายประการ เช่น

1. สระ ภาษาบาลีมีสระ 8 เสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ / ภาษาสันสกฤตมีสระ 14 เสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ไอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦา

2. พยัญชนะ ภาษาบาลีมีพยัญชนะ 33 เสียง / ภาษาสันสกฤตมีพยัญชนะ 35 เสียง มีตัวอักษร “ศ และ ษ” ที่ไม่มีในบาลี

3. พยัญชนะควบกล้ำ ภาษาบาลีไม่นิยมควบกล้ำ / ภาษาสันสกฤตนิยมคำควบกล้ำ

ตัวอย่างเปรียบเทียบคำในภาษาบาลี และสันสกฤต

คำบาลี

คำสันสกฤต

กีฬา

กรีฑา

กิเลส

เกลศ

เขต

เกษตร

จัก

จักร

เขม

เกษม

จักขุ

จักษุ

ปณีต

ประณีต

ขัตติยะ

กษัตริย์

ภัททะ

ภัทร

สัตตุ

ศัตรู

ภิกขุ

ภิกษุ

นิพพาน

นิรวาณ

4. พยัญชนะ “ฬ และ ฑ” ภาษาบาลีนิยมใช้ ฬ / ภาษาสันสกฤตนิยมใช้ ฑ

คำบาลี

คำสันสกฤต

กีฬา

กรีฑา

จุฬา

จุฑา

ครุฬ

ครุฑ

เวฬุริยะ

ไพฑูรย์

5. การเขียน “รร”

ภาษาสันสกฤต นิยมใช้ “รร” / ภาษาบาลีไม่ใช้ “รร”

ตัวอย่างการเขียน “รร” ในภาษาสันสกฤต เช่น กรรม กรรณ ครรภ์ จรรยา ดรรชนี ธรรม

 

พยัญชนะในภาษาบาลีและสันสกฤต

ตารางพยัญชนะบาลี

วรรค

แถว 1

แถว 2

แถว 3

แถว 4

แถว 5

วรรค ก

ค 

วรรค จ

วรรค ฏ

วรรค ต

วรรค ป

เศษวรรค

ย, ร, ล, ว, ส, ห, ฬ, ° (อ่านว่า อัง)

พยัญชนะภาษาสันสกฤตจะเพิ่ม ศ ษ

หลักเกณฑ์การใช้ตัวสะกดสำหรับคำบาลี

1. พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดได้คือ พยัญชนะ แถวที่ 1 แถวที่ 3 และแถวที่ 5
2. เมื่อมีตัวสะกด ต้องมีตัวตามตัวสะกด

    - พยัญชนะแถวที่ 1 สะกด ตัวตามคือพยัญชนะแถวที่ 1 และแถวที่ 2 เช่น ทุกข์ อิจฉา สัจจะ สมุฏฐาน เมตตา วัตถุ หัตถ์ บุปผา
    - พยัญชนะแถวที่ 3 สะกด ตัวตามคือพยัญชนะแถวที่ 3 และแถวที่ 4 เช่น อัคคี พยัคฆ์ มัชฌิมา สิทธิ วิสุทธิ์ นิพพาน
    - พยัญชนะแถวที่ 5 สะกด ตัวตามคือพยัญชนะทุกตัวในวรรคนั้น เช่น บัลลังก์ สังข์ องค์ สงฆ์ เบญจะ บัญชา กัญญา เกณฑ์ อัณฑะ นิมนต์ อันธพาล สัมภเวสี
    - พยัญชนะเศษวรรค เป็นตัวสะกด จะตามด้วยตัวเอง เช่น อัยยิกา วัลลภา อัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) ปัสสาสะ (ลมหายใจออก) อุจจาระ ปัสสาวะ

 

การยืมคำจากภาษาเขมร

คำยืมจากภาษาเขมรที่นำมาใช้ในภาษาไทย มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

    - มักใช้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น เสวย เขนย ถวาย ขนง โปรด ตรัส
    - คำเขมรที่ใช้ในคำสามัญทั่วไป เช่น กระบือ กระบาล (กบาล) โตนด โขมด จมูก เสนียด เพนียด ตำบล ถนน จังหวัด ทำเนียบ ลำเนา ชุมนุม ชมรม ฯลฯ
    - คำเขมรที่เป็นคำโดดคล้ายกับภาษาไทย จนเราเองลืมไป คิดว่าเป็นคำไทยเพราะความใกล้ชิด ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด แต่มีที่สังเกตได้ว่าเป็นคำเขมร ต้องแปลความหมายก่อนจึงจะเข้าใจ เช่น แข (ดวงจันทร์) บาย (ข้าว) เมิล (มอง) ศก (ผม) ฯลฯ

 

ข้อสังเกตคำที่มาจากภาษาเขมร

1. มักสะกดด้วยพยัญชนะ จ ญ ร ล ส เช่น เสร็จ บังเอิญ จร สรวล จรัส
2. มักเป็นศัพท์พยางค์เดียวที่ต้องแปลความหมาย
3. มักเป็นศัพท์ที่ใช้พยัญชนะควบกล้ำ หรือมีอักษรนำ
4. มักแผลงคำได้

การใช้คำเติมหน้า และคำเติมตรงกลางในภาษาเขมร

คำเขมรนิยมใช้คำเติมหน้าเพื่อให้เกิดคำใหม่ เช่น

กำ

บัง - กำบัง

 

บัง

เกิด - บังเกิด

อาจ - บังอาจ

บรร

จง - บรรจง

ลุ - บรรลุ

บัน

ดาล - บันดาล

ลือ - บันลือ

บำ

บวง - บำบวง

เพ็ญ - บำเพ็ญ

จง - ผจง

ลาญ - ผลาญ

ประ

จำ - ประจำ

ชุม - ประชุม

สำ

รวม - สำรวม

รอง – สำรอง

คำเขมรนิยมใช้คำเติมตรงกลางเพื่อให้เกิดคำใหม่ด้วย เช่น

อำ

กราบ - กำราบ

เฉพาะ - จำเพาะ

อำ-น

เกิด - กำเนิด

ทบ - ทำนบ

อำ-ห

แข็ง - กำแหง

ฉัน - จังหัน

เกย - เขนย

บวช - ผนวช

อะ-บ

เรียบ - ระเบียบ

ลัด - ละบัด

อะ-ม

โลภ - ละโมบ

เดิน - ทเมิน

 

การยืมคำจากภาษาจีน

ในอดีตภาษาบาลีสันสกฤตในไทยนั้น เป็นภาษาชั้นสูง คนทั่วไปน้อยคนนักที่จะได้ศึกษาร่ำเรียน เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะ หรือชนชั้นของคนสมัยก่อน (คนทั่วไปฟังไม่เข้าใจ) แสดงให้เห็นถึงความเป็นภาษานอก ที่รับเข้ามาทีหลังภาษาพื้นถิ่นเดิม ซึ่งภาษาพื้นถิ่นเดิมของไทยมีลักษณะเรียบง่าย เป็นคำโดด และมีการผันเสียงวรรณยุกต์ จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท ซึ่งใช้กันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบตอนใต้ของจีน

หากไม่นับการดัดแปลงอักษรขึ้นใช้เอง ตามระบบผสมคำแบบบาลีและสันสกฤตแล้ว ภาษาไทยแต่เดิมมีความใกล้ชิดกับภาษาจีนมากกว่า ดูอย่างการนับเลขก็พอจะเห็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ชาวจีนเข้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนศิลปะ รวมถึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสยาม จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ภาษาจีนจะเข้ามาปะปนกับภาษาไทย จนมีคำศัพท์จากภาษาจีนที่เราใช้กันจนติดปากและยากที่จะหาคำอื่นมาแปลได้

 

หลักการสังเกตคำภาษาไทยที่มาจากภาษาจีน

    - เป็นชื่ออาหารการกิน เช่น ก๋วยเตี๋ยว เต้าทึง แป๊ะซะ เฉาก๊วย จับฉ่าย เป็นต้น
    - เป็นคำที่เกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้ที่เรารับมาจากชาวจีน เช่น ตะหลิว ตึก เก้าอี้ เก๋ง ฮวงซุ้ย
    - เป็นคำที่เกี่ยวกับการค้า เช่น เจ๊ง หุ้น ห้าง โสหุ้ย เป็นต้น
    - เป็นคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรี จัตวา เป็นส่วนมาก เช่น ก๋วยจั๊บ กุ๊ย เก๊ เก๊ก ก๋ง ตุ๋น เป็นต้น

ตัวอย่างคำยืมที่มาจากภาษาจีน

กงสี กงฉิน กงไฉ่ กงเต็ก ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เกาหลา กุ๊ย เก๊ เก๊ก เกี้ยว เกี๊ยว เกี๊ยะ กุยเฮง เก๊ก ก๋ง เก้าอี้ ขาก๊วย เข่ง จับกัง จับฉ่าย จับยี่กี จันอับ เจ๊ง เจี๋ยน เจ เฉาก๊วย เซ้ง เซียน แซ่ แซยิด เซ็งลี้ ซาลาเปา ซิ้ม ตะหลิว เต๋า ตุน ตุ๋น แต๊ะเอีย เต้าหู้ เต้าฮวย เต้าเจี้ยว โต๊ะ ไต้ก๋ง ตังเก บ๊วย บะฉ่อ บะหมี่ บู๊ ปุ้งกี๋ ปอเปี๊ยะ แป๊ะเจี๊ยะ พะโล้ เย็นตาโฟ หวย ยี่ห้อ ลิ้นจี่ ห้าง หุ้น เอี๊ยม โสหุ้ย เฮงซวย ฮวงซุ้ย ฮ่องเต้ อั้งโล่

 

การยืมคำจากภาษาอังกฤษ

คนไทยได้ศึกษาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมาเป็นเวลานาน จากการติดต่อค้าขายและการทูต จนภาษาอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนไทยมากขึ้น ทั้งในด้านการพูด และการเขียนสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในปัจจุบันคนไทยศึกษาความรู้ และวิทยาการต่างๆ จากตำราภาษาอังกฤษ และสนใจเรียนรู้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้น คำยืมจากภาษาอังกฤษจึงหลั่งไหลเข้ามาในภาษาไทยมากขึ้นทุกขณะ ทั้งในวงการศึกษา ธุรกิจ การเมือง การบันเทิง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรารับภาษาอังกฤษมาใช้ในรูปแบบของการทับศัพท์เท่านั้น การทับศัพท์ หมายถึง การถ่ายเสียงและถอดตัวอักษรเป็นภาษาไทย

ตัวอย่างคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีใช้ในภาษาไทย

กราฟ การ์ตูน กลูโคส กัปตัน แก๊ส กุ๊ก เกียร์ แก๊ง แกลลอน คริสต์มาส ไดนาโม ไดโนเสาร์ ครีม คลอรีน คอนกรีต คลินิก คอนเสิร์ต คอมพิวเตอร์ คุกกี้ เคเบิล เครดิต แคปซูล เคาน์เตอร์ แคลอรี โควตา ชอล์ก ช็อกโกเลต เช็ค เชิ้ต เชียร์ โชว์ ซีเมนต์ เซลล์ ไซเรน ดีเซล ดอลลาร์ ดีเปรสชัน เต็นท์ ทอนซิล เทอม แท็กซี่ แทรกเตอร์ นิโคติน นิวเคลียร์ นีออน นิวเคลียส โน้ต ไนลอน บล็อก เบนซีน แบคทีเรีย ปลั๊ก ปิกนิก เปอร์เซ็นต์ พลาสติก พีระมิด ฟลูออรีน ฟอร์มาลีน ฟังก์ชัน ฟาร์ม ฟิสิกส์ มอเตอร์ มัมมี่ มาเลเรีย โมเลกุล ไมล์ ไมโครโฟน ไมโครเวฟ ยิปซัม ยีราฟ ริบบิ้น เรดาร์ ลิกไนต์ ลิปสติก เลเซอร์ วัคซีน วิตามิน ไวโอลิน


 

คำที่มาจากภาษาอื่นๆ ในภาษาไทย

ภาษาทมิฬ เช่น กุลี กานพลู กำมะหยี่ จงกลนี ตรียัมปวาย ตะกั่ว ปะวะหล่ำ ยี่หร่า สาเก อาจาด กะละออม กะหรี่ (ชื่อแกงชนิดหนึ่ง)

ภาษาเปอร์เซีย เช่น กากี กาหลิบ กุหลาบ คาราวาน ชุกชี ตาด ตรา ตราชู ฝรั่ง ราชาวดี สุหร่าย องุ่น สักหลาด

ภาษาอาหรับ เช่น กะลาสี การบูร กั้นหยั่น ฝิ่น โก้หร่าน

ภาษาญี่ปุ่น เช่น เกอิชา กิโมโน คาราเต้ ยูโด เคนโด้ ซามูไร ซูโม่ ซากุระ เทมปุระ ฟูจิ สุกี้ยากี้

ภาษาโปรตุเกส เช่น สบู่ กัมปะโด ปิ่นโต กะละแม กะละมัง จับปิ้ง เลหลัง บาทหลวง ปัง เหรียญ

ภาษาฝรั่งเศส เช่น กงสุล กาสิโน กิโยติน แชมเปญ ออเดิร์ฟ คูปอง เปตอง ปาร์เกต์ คาเฟ่ ครัวซองท์ บุฟเฟต์

ภาษาพม่า เช่น หม่อง กะปิ ส่วย

ภาษามอญ เช่น มะ เม้ย เปิงมาง ประเคน

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว