ระดับของภาษา ราชาศัพท์และคำสุภาพ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 80.8K views



เมื่อแรกเริ่มที่มนุษย์เริ่มใช้งานภาษา ภาษายังไม่มีการแบ่งระดับ การสื่อความหมายของภาษาก็เป็นการสื่อสารแบบตรงตัว ต่อเมื่อมนุษย์เริ่มรู้สึกว่า มีบางเรื่องที่ไม่สามารถพูดถึงตรงๆ ได้ จึงเริ่มใช้การพูดอ้อมๆ แทน นานวันเข้า คำที่เคยสื่อความหมายตรงๆ ก็กลายเป็นคำหยาบ ไม่ควรพูดไปเสีย ประโยคที่สื่อความรู้สึกตรงๆ ก็กลายเป็นประโยคที่ไม่สุภาพ เมื่อมีการแบ่งแยกถ้อยคำเป็นคำสุภาพและคำหยาบ จึงเกิดระดับของภาษาตามมา เป็นภาษาระดับทางการ ภาษาปาก เนื่องจากความเห็นว่าสมควรใช้แต่คำสุภาพกับบุคคลที่ไม่สนิทสนมกัน และเกิดราชาศัพท์หรือภาษาที่ใช้พูดกับบุคคลที่มีสถานะต่างๆ เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ พระสงฆ์ เจ้านาย และผู้ใหญ่โดยเฉพาะ เพื่อแสดงความเคารพต่อบุคคลเหล่านั้น

ภาพ : shutterstock.com

การแบ่งระดับภาษา

ภาษาที่เราใช้กัน สามารถแบ่งได้หลายระดับ ดังนี้ ภาษาระดับพิธีการ (แบบแผน) ภาษาระดับกึ่งพิธีการ (กึ่งแบบแผน) ภาษาระดับไม่เป็นพิธีการ (ไม่เป็นแบบแผนหรือภาษาปาก)

 

ภาษาระดับทางการ (แบบแผน)

ใช้ในการบรรยาย หรืออภิปรายอย่างเป็นทางการ ใช้ในการประชุม ใช้ในการเขียนข้อความที่จะปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ในหนังสือที่ติดต่อกันทางราชการ หรือในวงการธุรกิจ ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาที่ถูกต้อง

ผู้ส่งสารและผู้รับสารมักจะเป็นบุคคลซึ่งมีหน้าที่ และภารกิจโดยตรงในแต่ละด้าน ในวงการหรือวงอาชีพเดียวกัน สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไปในด้านธุรกิจและการงาน อาจจะไม่รู้จักกัน การใช้ภาษาระดับนี้มุ่งให้ได้ผลตามจุดประสงค์โดยเร็ว โดยประหยัดการใช้ถ้อยคำ และเวลาให้มากที่สุด อาจใช้ศัพท์เฉพาะมากหรือน้อยแล้วแต่ลักษณะการประชุมและผู้รับสาร ในกรณีจำเป็น ผู้ส่งสารอาจต้องใช้คำอธิบายให้มากขึ้นก็ได้

 

ภาษาระดับกึ่งทางการ

ภาษาระดับนี้คล้ายกับภาษาระดับทางการ แต่ลดความเป็นการเป็นงานลงบ้าง มักใช้ในการประชุมในกลุ่ม ที่เล็กกว่าการประชุมที่ต้องใช้ภาษาระดับทางการ เช่น ในการประชุมกลุ่มย่อย การบรรยายในห้องเรียน การเขียนข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ มักใช้ภาษาที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยมากกว่าภาษาในระดับทางการ และใช้ศัพท์เฉพาะเท่าที่จำเป็น

 

ภาษาระดับไม่เป็นทางการ

ใช้ในการสนทนาระหว่างบุคคลหรือกลุ่มไม่เกิน 4-5 คน ในสถานที่และโอกาสที่ไม่ใช่เป็นการส่วนตัว เช่น ในการเขียนจดหมายระหว่างเพื่อน เนื้อหาของสารอาจเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ภาษาที่ใช้อาจมีถ้อยคำที่เคยใช้กันเฉพาะกลุ่ม

 

การใช้คำราชาศัพท์

ภาษาไทยมีวิวัฒนาการมายาวนาน จนมีคำศัพท์มากมายให้ใช้กับผู้คนในระดับต่างๆ อย่างเช่น ผู้ใหญ่ กับผู้น้อย ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะมีกลุ่มคำศัพท์สำหรับใช้กับพระมหากษัตริย์ สมาชิกราชวงศ์ หรือพระภิกษุระดับสูงด้วย นักเรียนสามารถศึกษาการใช้คำราชาศัพท์เพิ่มเติมได้ จากข่าวพระราชสำนักในแต่ละวัน

การใช้คำว่า “ทรง”

1. ใช้ทรงนำหน้าคำนามสามัญบางคำทำให้เป็นกิริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงกีฬา (เล่นกีฬา), ทรงธรรม (ฟังเทศน์), ทรงบาตร (ใส่บาตร), ทรงช้าง (ขี่ช้าง)
2. ใช้ทรงนำหน้าคำกิริยาสามัญบางคำ ทำให้เป็นกิริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงวิ่ง, ทรงยินดี, ทรงอธิบาย, ทรงยิง, ทรงเล่น, ทรงสั่งสอน
3. ใช้ทรงนำหน้าคำนามราชาศัพท์บางคำ ทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงพระราชดำริ (คิด), ทรงพระราชนิพนธ์ (แต่งหนังสือ), ทรงพระสรวล (ยิ้ม), ทรงพระอักษร (อ่าน, เขียน, เรียน)

การใช้คำว่า “พระบรม/พระบรมราช, พระราช, พระ”

1. “พระบรม” และ “พระบรมราช” ใช้นำหน้าคำนามที่สำคัญที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น เช่น พระบรมราโชวาท, พระบรมมหาราชวัง, พระบรมฉายาลักษณ์, พระปรมาภิไธย, พระบรมราชวโรกาส, พระบรมราชโองการ
2. “พระราช” ใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีและอุปราช เช่น พระราชโทรเลข, พระราชหัตถเลขา, พระราชเสาวนีย์, พระราชปฏิสันถาร
3. “พระ” ใช้นำหน้าคำที่เรียกอวัยวะ เครื่องใช้ หรือนำหน้าคำสามัญบางคำที่ไม่มีราชาศัพท์ใช้ เช่น พระพักตร์, พระเศียร, พระบาท, พระเก้าอี้, พระมาลา, พระกระยาหาร

 

การใช้ราชาศัพท์ในคำขึ้นต้นและคำลงท้าย

1. “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ” ใช้ในโอกาสกราบบังคมทูลขึ้นก่อนเป็นครั้งแรก
2. “พระพุทธเจ้าข้าขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสที่มีพระราชดำรัสขึ้นก่อน
3. “พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” หรือ “พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสแสดงความขอบคุณที่ได้รับความช่วยเหลือ
4. “เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม” หรือ “เดชะพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสแสดงว่ารอดพ้นอันตราย
5. “พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม” หรือ “พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสทำผิดพลาด
6. “ไม่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณา” หรือ “ไม่ควรจะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสที่จะต้องกล่าวถึงของไม่สุภาพ คำกราบบังคมทูลจะต้องใช้ “ฝ่าละอองธุลีพระบาท” ไม่ใช้ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เพราะคำว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เป็นคำสรรพนามมีความหมายว่า “ท่าน” เท่านั้น

 

การใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้อง

1. ใช้ “เฝ้าฯ รับเสด็จหรือรับเสด็จ” ไม่ใช้ “ถวายการต้อนรับ” ใช้ “มีความจงรักภักดี” หรือ “จงรักภักดี” ไม่ใช้ “ถวายความจงรักภักดี”
2. “อาคันตุกะ” หมายถึง แขกที่มาหานั้นเป็นแขกของประธานาธิบดี หรือแขกของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ประเทศใดประเทศหนึ่ง ส่วน “ราชอาคันตุกะ, พระราชอาคันตุกะ” หมายถึง แขกของพระมหากษัตริย์ประเทศใดประเทศหนึ่ง
3. “ขอบใจ” ใช้สำหรับสุภาพชน คนเสมอกัน ผู้ใหญ่ใช้พูดกับผู้น้อย พระราชวงศ์ ทรงใช้กับคนสามัญ และพระราชาทรงใช้กับประชาชน ส่วน “ขอบพระทัย” ใช้สำหรับคนสามัญกล่าวกับพระราชวงศ์ พระราชวงศ์ทรงใช้กับพระราชวงศ์หรือพระราชาทรงใช้กับพระราชวงศ์
4. ในการถวายของแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถ้าเป็นของเล็ก ใช้คำว่า “ทูลเกล้าฯ ถวาย” อ่านว่า “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย” ส่วนถ้าเป็นของใหญ่ ใช้คำว่า “น้อมเกล้าฯ ถวาย” อ่านว่า “น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย”

 

คำสุภาพ

คือคำในภาษาไทยที่เราใช้กันทั่วๆ ไป ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับองค์พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ พระสงฆ์ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

คำสุภาพ เป็นคำที่ได้ยินแล้วน่าฟัง ชวนฟังเป็นถ้อยคำที่เหมาะสม ไม่เป็นคำหยาบ ไม่เป็นคำกระด้าง ไม่เป็นคำที่สั้นหรือห้วนเกินไป เป็นคำที่พูดผวนแล้วไม่เป็นคำหยาบ

 

คำสามัญ

คำสุภาพ

กล้วยไข่

กล้วยเปลือกบาง, กล้วยกระ

กิน

รับประทาน

เกือก

รองเท้า

ขนมขี้หนู

ขนมทราย

ขี้ (ของสัตว์, สิ่งอื่น)

มูล

ขี้ (คน)

อุจจาระ

ขี้ผึ้ง

สีผึ้ง

ขี้มูก

น้ำมูก

ขี้เรื้อน

โรคเรื้อน

ขี้เหล็ก

ดอกเหล็ก

ควาย

กระบือ

ช้างแม่แปลก

ช้างแม่หนัก

ช้างสีดอ

ช้างนรการ

ดอกซ่อนชู้

ดอกซ่อนกลิ่น

ดอกสลิด

ดอกขจร

ดอกยี่หุบ

ดอกมณฑาขาว

ต้นขี้กา

ต้นมูลกา

ต้นตำแย

ต้นอเนกคุณ

ต้นพุงดอ

ต้นหนามรอบข้อ

ตากแดด

ผึ่งแดด

ตีน

เท้า

ตูด

ทวารหนัก, ที่นั่งทับ

เต่า

จิตรจุล

ถั่วงอก

ถั่วเพาะ

เถาหมามุ้ย, เถาหมามุ่ย

เถามุ้ย, เถามุ่ย

ที่หก

ครบหก

ที่ห้า

ครบห้า

ปลาช่อน

ปลาหาง

ปลาร้า

ปลามัจฉะ

ปลาสลิด

ปลาใบไม้

ปลาอ้ายบ้า

ปลาบ้า

แปดตัว

สี่คู่

ผลแตงโม

ผลอุลิด

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว