การวิเคราะห์การใช้ภาษาและความน่าเชื่อถือจากสื่อต่างๆ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 22.7K views



ในสังคมปัจจุบันนั้น ช่องทางการนำเสนอข้อมูลให้รับชมมีอยู่มากมาย ข้อมูลความรู้ต่างๆ มีทั้งข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นผสมปนเปกันไปหมด เราต้องระมัดระวังในการรับฟังและรับชม เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงหรือได้รับความรู้ ข้อมูลไปแบบผิดๆ ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อตัวเราเองและสังคม ดังนั้นเราต้องรู้จักเลือกที่จะดูและฟัง รู้จักประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล รู้จักการวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วย

ภาพ : shutterstock.com

ไม่ว่าสื่อประเภทใดก็ตาม อาจมีข้อมูลเท็จหรือมีความผิดพลาดของข้อมูลข่าวสารได้เสมอ แม้ว่าเราจะปลงใจเชื่อไปแล้วด้วยการไตร่ตรองอย่างดี แต่ก็ควรเผื่อใจไว้ด้วยว่า การใช้เหตุผลในการเชื่อของเราอาจผิดพลาดได้เช่นกัน

1. สื่อโฆษณา

สื่อประเภทนี้ผู้ฟังต้องตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของสื่อให้ดี เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อให้เกิดการคล้อยตาม การชักจูงให้เชื่อเพื่อให้เราซื้อสินค้าหรือบริการ ข้อมูลที่ได้อาจไม่จริงหรือเหตุผลไม่สมเหตุสมผล ต้องพิจารณาไตร่ตรองถึงผลดีผลเสียและความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจซื้อ

2. สื่อเพื่อความบันเทิง

เช่น เพลง นิทาน เรื่องเล่า ซึ่งอาจมีการแสดงประกอบด้วย เช่น ละคร สื่อเหล่านี้เน้นความบันเทิงใจมากกว่าที่จะให้ข้อมูลหรือความรู้ อาจมีบ้างที่ให้ความรู้ไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้รับสารก็ต้องระมัดระวังให้ดี ใช้วิจารณญาณประกอบการรับชมและรับฟัง

3. ข่าวสาร

สื่อประเภทนี้มุ่งให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงโดยตรง โดยมากผู้รับสารจะเชื่อถือไว้ก่อน เพราะรูปแบบของสื่อมีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือของรูปแบบสื่อก็เป็นดาบสองคม เพราะถ้าข้อมูลข่าวสารเป็นเท็จ ผู้รับสารก็เชื่อข่าวลวงอย่างสนิทใจ ผู้รับสารจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบเช่นกัน ต้องพิจารณาแหล่งข่าวหรือผู้นำเสนอข่าวว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ต้องสามารถจับประเด็น รู้จักการใช้เหตุผลแยกแยะ รู้จักเปรียบเทียบเนื้อหาจากที่มาของข่าวหลายๆ แหล่ง ก่อนที่จะเชื่อข้อมูลนั้น

4. ปาฐกถา

เนื้อหาประเภทนี้ผู้รับสารต้องฟังอย่างมีสมาธิเพื่อจับประเด็นสำคัญให้ได้ และก่อนตัดสินใจเชื่อหรือก่อนจะนำข้อมูลส่วนใดไปใช้ประโยชน์ควรมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นๆ อยู่บ้าง หรือไม่ก็ควรหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป

5. สุนทรพจน์

สื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่จะไม่ยืดยาว และมีใจความที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และมีความสวยงามของภาษา ถ้อยคำ สำนวน มักชวนให้ผู้ฟังเกิดความคล้อยตามโดยง่าย ผู้ฟังจึงควรมีสติ รู้จักกลั่นกรองสิ่งที่ดีเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว