ประเมินงานเขียนของผู้อื่นเพื่อพัฒนางานเขียนของตนเอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 38.3K views



การประเมินคุณค่างานเขียนคือการให้ความเห็นต่องานเขียนหนึ่งๆ ว่ามีคุณค่าหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ออกเป็นส่วนๆ ทั้งในด้าน แนวคิดของเรื่อง การเรียบเรียงเนื้อเรื่อง การเลือกใช้ภาษา การใช้สำนวนโวหาร เป็นต้น การประเมินคุณค่างานเขียนของผู้อื่นจนเชี่ยวชาญ จะช่วยให้เราเห็นกลวิธีการเขียนที่ดี ทำให้เราสามารถพัฒนาทักษะการเขียนของตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้

ภาพ : shutterstock.com

การประเมินคุณค่าเรื่องสั้น

การประเมินคุณค่าเรื่องสั้น ควรประเมินใน 4 ประเด็น คือ

1. เนื้อหา รวมถึงแนวคิดของเรื่อง
2. กลวิธีในการนำเสนอเรื่อง มีองค์ประกอบดังนี้
     (2.1) โครงเรื่อง โครงเรื่องมีการสร้างปมปัญหาหรือความขัดแย้งและคลี่คลายปมปัญหาได้อย่างน่าสนใจ
     (2.2) แก่นเรื่อง มีแก่นเรื่องเดียวและมีความชัดเจน
     (2.3) การดำเนินเรื่อง มีการเปิดเรื่องน่าสนใจ ดำเนินเรื่องตามปมปัญหาหรือความขัดแย้งอย่างชัดเจน น่าติดตาม เสนอเหตุการณ์ในระยะรวบรัดและปิดเรื่องอย่างน่าประทับใจ อาจปิดเรื่องด้วยการคลายปมปัญหา หรือการทิ้งเรื่องไว้ให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ
     (2.4) ฉาก ต้องสอดคล้องกับเหตุการณ์ในเรื่อง ทำให้เข้าใจลักษณะนิสัยและอารมณ์ของตัวละครชัดเจนขึ้น ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ช่วยสร้างจินตภาพหรือมโนภาพของผู้อ่านที่มีต่อตัวละครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
     (2.5) ตัวละคร ต้องสอดคล้องกับแนวเรื่อง ตัวละครมีการพัฒนานิสัยอย่างสมเหตุสมผลและมีบทบาทสัมพันธ์กับเรื่อง ตัวละครไม่ควรมากจนเกินไป
     (2.6) บทสนทนา ช่วยในการดำเนินเรื่อง บทสนทนาต้องสอดคล้องกับตัวละครและใช้ภาษาได้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง

3. การใช้ภาษา เหมาะสมกับลักษณะของเรื่องและภาษา มีลีลาเฉพาะตัว
4. คุณค่าของเรื่อง เนื้อเรื่องให้ความบันเทิง ให้ข้อคิดที่ทำให้ตระหนักและเข้าใจชีวิตอย่างลุ่มลึกหรือเสนอแง่คิดแก่ผู้อ่าน รวมทั้งมีเนื้อเรื่องจรรโลงใจหรือสังคม

 

การประเมินคุณค่าสารคดี

การประเมินคุณค่าสารคดี ควรพิจารณาใน 4 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

1. เนื้อหา มีเนื้อหาสะท้อนแนวคิดสร้างสรรค์ และแนวคิดเฉพาะตน รวมทั้งพิจารณาความถูกต้องของเนื้อหา อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
2. วิธีการนำเสนอ ชื่อเรื่องต้องมีความน่าสนใจ กระชับตรงประเด็น เปิดเรื่องอย่างมีศิลปะ ลำดับเรื่องชวนติดตาม ปิดเรื่องอย่างประทับใจ
3. การใช้ภาษา ใช้ภาษาได้ถูกต้องชัดเจน การใช้สำนวนภาษามีพลังในการส่งสาร ใช้ภาษาที่สื่อความหมายได้อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งเลือกใช้ศัพท์เฉพาะหรือศัพท์บัญญัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับเรื่อง
4. การเรียบเรียง ว่าเรียบเรียงขึ้นจากเรื่องจริงที่ให้ทั้งความรู้ ความคิด และสอดแทรกความบันเทิงไว้ด้วย ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความคิดให้กับผู้อ่าน รวมทั้งช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้อ่านให้กว้างไกล ทำให้เป็นคนที่มีความรู้ที่ทันสมัยทันโลกตลอดเวลา

 

การประเมินคุณค่างานกวีนิพนธ์

การประเมินคุณค่างานกวีนิพนธ์ควรประเมินให้ครอบคลุมทั้ง 4 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

1. เนื้อหา สะท้อนแนวคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นสากล สะท้อนแนวคิดเฉพาะตน
2. รูปแบบคำประพันธ์ พิจารณาจากการมีรูปแบบตามฉันทลักษณ์หรือประยุกต์จากฉันทลักษณ์เดิมหรือมีรูปแบบที่คิดขึ้นเอง โดยรูปแบบนั้นมีความเหมาะสมกับเนื้อหา
3. ความงามด้านการประพันธ์ มีการเล่นเสียง การเล่นคำ มีการใช้โวหารภาพพจน์อย่างมีชั้นเชิงและมีการเสนออย่างมีเอกภาพ
4. คุณค่ากวีนิพนธ์ บทกวีก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ สร้างจินตนาการ ให้ข้อคิด ทำให้ตระหนักและเข้าใจชีวิตอย่างลุ่มลึก หรือเสนอแนวคิดแก่ผู้อ่านและมีโครงเรื่องจรรโลงสังคม

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว