การเขียนเรียงความ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2.7K views



เรียงความ เป็นงานเขียนร้อยแก้วชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมุ่งถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ ความคิด และทัศนคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยภาษาที่เรียบเรียงอย่างมีลำดับขั้นและสละสลวย ร้อยเรียงอย่างเป็นแบบแผน การแบ่งเนื้อหาของเรียงความจะอยู่ในลักษณะย่อหน้า คือกลุ่มประโยคที่วางเรียงต่อกันไปจนจบความ โดยที่ในหนึ่งย่อหน้า จะมีใจความหลักเพียงหนึ่งใจความเท่านั้น เมื่อจะกล่าวเนื้อหาที่มีใจความใหม่ก็ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ ทำให้แต่ละย่อหน้ามีความเป็นเอกเทศ สามารถจบความได้ในตัวเอง แต่ก็เรียงร้อยกันเป็นเรียงความชิ้นเดียวได้ โดยแบ่งเป็น ส่วนคำนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนสรุป


 

ภาพ : shutterstock.com

ส่วนประกอบของเรียงความ

ส่วนคำนำ เป็นส่วนแรกของเรียงความ ทำหน้าที่เป็นบทนำ เปิดประเด็น ดึงดูดความสนใจ คำนึงถึงเรื่องที่ตนจะเขียน เน้นศิลปะในการใช้ภาษา

ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนสำคัญและยาวที่สุดของเรียงความ ประกอบด้วย ความรู้ ความคิด และข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้าและเรียบเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ การเขียนเนื้อเรื่องเป็นการขยายความในประเด็นต่างๆ ตามโครงเรื่องที่วางไว้ล่วงหน้าแล้ว ในการเขียนอาจมีการยกตัวอย่าง การอธิบาย การพรรณนา หรือยกโวหารต่างๆ มาประกอบด้วย โดยอาจจะมีย่อหน้าหลายย่อหน้าก็ได้

ส่วนสรุป เป็นส่วนสุดท้าย หรือย่อหน้าสุดท้ายในเรียงความแต่ละเรื่อง ผู้เขียนจะทิ้งท้ายให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ ซึ่งการเขียนสรุปมีหลายวิธี เช่น ฝากข้อคิด ย้ำความคิดสำคัญของเรื่อง ชักชวนให้ปฏิบัติตาม ให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน ตั้งคำถามที่ชวนให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบ หรือยกคำพูด คำคม สุภาษิต หรือบทกวีที่น่าประทับใจ เป็นต้น

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว