การแต่งบทร้อยกรอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 74.1K views



บทร้อยกรองเป็นการพัฒนาสูงสุดของภาษา แบ่งเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ภาษาของไทยนั้นแตกต่างจากภาษาอื่น เพราะภาษาของเราเป็นภาษาเสียงดนตรี มีสัมผัส สระ พยัญชนะ สละสลวย งดงาม เวลาอ่านและการฟัง การจะเข้าถึงการอ่านและการแต่ง ต้องศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน

 

การแต่งคำประพันธ์

คำประพันธ์ คือ ถ้อยคำที่เรียงร้อยโดยมีลักษณะบังคับ ข้อสำคัญที่ต้องรู้ในการจะแต่งคำประพันธ์คือ

1. คำ ในการประพันธ์จะนับคำด้วยจำนวนพยางค์ เช่น ประสิทธิ์ มี 2 พยางค์ จึงนับเป็น 2 คำ
2. คณะ คือ จำนวนของคำบังคับในบทประพันธ์แต่ละประเภท
3. สัมผัส คือ คำที่คล้องจองกัน มี 2 ประเภท คือ สัมผัสนอก และสัมผัสใน

    - สัมผัสนอก เป็นสัมผัสบังคับ หรือสัมผัสสระ อยู่ระหว่างวรรค ระหว่างบาท และระหว่างบท เช่น

                          “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
                          มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
                          ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี่ยวลด
                          ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
                          มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
                          บิดามารดารักมักเป็นผล
                          ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน
                          เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา”

                          (จาก พระอภัยมณี)

สัมผัสนอก ได้แก่ มนุษย์-สุด, หนด-ลด-คด, สถาน-มารดา, ผล-ตน
สัมผัสระหว่างบท ได้แก่ คน-ผล

- สัมผัสใน เป็นสัมผัสในวรรค ไม่ใช่สัมผัสบังคับ แต่ถ้ามีจะทำให้ไพเราะขึ้น ได้แก่ สัมผัสสระ (คำที่มีเสียงสระ และมาตราตัวสะกดเดียวกัน) และ สัมผัสพยัญชนะ (คำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเดียวกัน) งานกวีของสุนทรภู่ จะมีสัมผัสในทุกวรรค อันเป็นเอกลักษณ์ของสุนทรภู่ จึงทำให้กลอนของสุนทรภู่มีความไพเราะมาก เช่น

                          “แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
                          ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
                          รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
                          รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

                          (จาก พระอภัยมณี)

คำที่เน้นเป็นคำสัมผัสในวรรค ได้แก่ รัก-รัก, ชัง-ชัง, รอบ-คอบ, อ่าน-หลาน, ไร-ไม่, สู้-รู้, รอด-ยอด

- สัมผัสพยัญชนะ เป็นคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน เช่น

                          “จงติดตามไปเอาไม้เท้าเถิด
                          จะประเสริฐสมรักเป็นศักดิ์ศรี
                          พอเสร็จคำสำแดงแจ้งคดี
                          รูปโยคีหายวับไปกับตา”

                          (จาก พระอภัยมณี)

คำที่เน้นเป็นคำสัมผัสพยัญชนะ เช่น ติด-ตาม, เท้า-เถิด, เสริฐ-สำ, แดง-ดี

4. คำเป็น คือ คำที่สะกดด้วย แม่กง กน กม เกย และเกอว และคำในแม่ ก กา ที่มีสระเสียงยาว หรือ คำสระอำ ใอ ไอ เอา

5. คำตาย คือ คำที่สะกดด้วย แม่กก กด และกบ และคำในแม่ ก กา ที่มีสระเสียงสั้น

6. คำเอก-คำโท ใช้แต่งโคลง คำเอก คือ คำที่ใช้รูปวรรณยุกต์เอก ใช้คำตายแทนได้ ส่วนคำโท คือ คำที่ใช้รูปวรรณยุกต์โท

 

กาพย์ยานี 11

กาพย์ยานี นิยมเรียกกันว่า กาพย์ยานี 11 ซึ่งเลข 11 เป็นจำนวนคำใน 1 วรรค ใช้แต่งในบทสวดและบทพากษ์ บทสวดสรภัญญะ และโขน เป็นกาพย์ที่มักใช้ในการพรรณนา บรรยายความรู้สึกโศกเศร้า

กาพย์ยานี 11 มีแผนผัง และฉันทลักษณ์ดังนี้

ภาพประกอบ coming soon

 

- ใน 1 บาท มี 2 วรรค วรรคหน้ามี 5 คำ วรรคหลังมี 6 คำ
- ใน 1 บท มี 2 บาท บาทละ 2 วรรค รวมเป็น 4 วรรค
- สัมผัสระหว่างวรรค มีสัมผัส 2 คู่ คือ คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง สัมผัสกับคำที่สาม (หรือคำที่หนึ่ง) ของวรรคสอง และคำสุดท้ายของวรรคที่สอง สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สาม
- สัมผัสระหว่างบท มี 1 คู่ คือ คำสุดท้ายของแต่ละบท สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สองของบทถัดไป

 

ตัวอย่างกาพย์ยานี 11

                          “อย่าด่วนครรไลแล่น
                          กรกรีดแหวนบ่รางควร
                          ทอดตาลีลาจวน
                          สะดุดบาทจักพลาดพลำ
                          อย่าเดินทัดมาลา
                          เสยเกศาบ่ควรทำ
                          จีบพกพลางขานคำ
                          สะกิดเพื่อนสำรวลพลาง”

                          (จาก กฤษณาสอนน้องคำฉันท์)

 

กาพย์ฉบัง (16)

กาพย์ฉบัง 16 เป็นคำประพันธ์ที่มีมาแต่โบราณ ไม่มีที่มาแน่ชัด แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา สันนิษฐานว่ากาพย์ฉบังเป็นฉันทลักษณ์เขมร เนื่องจากคำว่า ฉบัง น่าจะมีรากจากคำเขมรว่า “จฺบำง” หรือ “จํบำง”

กาพย์ฉบัง 16 มีแผนผัง และฉันทลักษณ์ดังนี้

 

ภาพประกอบ coming soon

- บทหนึ่งมี 3 วรรค คือ วรรคแรก (วรรคสดับ) มี 6 คำ, วรรคที่สอง (วรรครับ) มี 4 คำ และวรรคที่สาม (วรรคส่ง) มี 6 คำ
- มีสัมผัสนอก (สัมผัสระหว่างวรรค) เป็นสัมผัสบังคับ ไดแก่ คำสุดท้ายของวรรคแรก (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคสอง (วรรครับ)
- มีสัมผัสระหว่างบท คือ คำสุดท้ายของวรรคสาม (วรรคส่ง) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคหนึ่ง (วรรคสดับ) ของบทต่อไป

ตัวอย่างกาพย์ฉบัง 16

“ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง
เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง
กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง
พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง”

(จาก กาพย์พระไชยสุริยา)

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว