ชนิดและหน้าที่ของคำในประโยค
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 332.4K views



คำ เป็นเสียงที่เราเปล่งออกมาตั้งแต่ 1 พยางค์ขึ้นไป ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ คำแตกต่างจากพยางค์ตรงที่ พยางค์จะมีความหมายหรือไม่มีก็ได้ แต่คำต้องมีความหมายเสมอ คำในภาษาไทยแบ่งตามหน้าที่ในประโยคได้เป็น 7 ชนิด ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธาน และคำอุทาน 

คำทั้ง 7 ชนิดนี้ จะทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยค เพื่อสื่อความหมายให้ถูกต้อง ชัดเจน คำบางคำมีหลายความหมาย และสามารถทำได้หลายหน้าที่ การที่จะรู้ความหมายที่ถูกต้องได้ต้องดูที่หน้าที่ของคำนั้นในประโยค

ภาพ : shutterstock.com

คำนาม

คำนามเป็นชื่อเรียก คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ที่เป็นรูปธรรม คือจับต้องได้ หรือชื่อเรียกสิ่งที่เป็นนามธรรม คือจับต้องไม่ได้ก็ได้เช่นกัน คำนามจะทำหน้าที่เป็นประธาน และกรรมของประโยค ใช้ระบุบ่งชี้ถึงสิ่งต่างๆ เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดถึงใคร หรืออะไร

คำนามแบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ

1.) สามานยนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อทั่วไป เช่น นก ปลา คน รถ ตึก วัด ตลาด ทะเล ภูเขา ดวงดาว

2.) วิสามานยนาม คือ คำนามเป็นชื่อเฉพาะ อย่างเช่น ชื่อคน (สมชาย วิศรุต โธมัส มูฮัมหมัด) ชื่อสถานที่ (เชียงใหม่ ยุโรป น้ำตกเหวนรก ถนนเพชรเกษม) ชื่อหนังสือและตัวละครสมมติ (สามก๊ก เวนิสวาณิช หนุมาน ไอรอนแมน) ตลอดจนชื่อของเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทั้งหลาย (พระยะโฮวา พระโพธิสัตว์ พระคเนศ แม่ซื้อ)  

สรุปคือ วิสามานยนามเป็นคำนามที่ไม่ได้บ่งถึงสิ่งทั่วๆ ไป แต่บ่งถึงสิ่งที่มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ดังนั้น “พระอาทิตย์” “พระจันทร์” จึงนับเป็นวิสามานยนาม แม้เราจะค้นพบพระอาทิตย์ และพระจันทร์ในจักรวาลอื่น แต่คำว่า “พระอาทิตย์” ที่เราใช้นั้นบ่งถึงดาวฤกษ์ของระบบสุริยะของเราเท่านั้น “พระจันทร์” ก็บ่งถึงดาวบริวารของโลกเราเท่านั้น โดยดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของดาวดวงอื่นจะมีชื่อเฉพาะของตัวเอง แต่คำว่า “ดวงดาว” จะนับเป็น สามานยนาม เพราะบ่งถึงดาวดาวโดยทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นดวงใด

3.) สมุหนาม คือ คำนามบอกหมวดหมู่ ใช้เรียกคน สัตว์ สิ่งของ ที่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมวดหมู่ เช่น

ฝูงสัตว์กำลังแตกตื่น
คณะนักศึกษาไปทัศนศึกษา
เหล่าทหารกำลังเตรียมสวนสนาม
โขลงช้างกำลังข้ามลำห้วย

4.) ลักษณนาม คือ คำนามที่ใช้บอกลักษณะของคำสามานยนาม เช่น

รถ 6 คัน
ปืน 5 กระบอก
บ้าน 4 หลัง
ขลุ่ย 1 เลา
งา 2 กิ่ง
ช้าง 3 เชือก
พระ 4 รูป

5.) อาการนาม คือ เป็นคำนามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “การ” หรือ “ความ” นำหน้า

โดยคำว่า “การ” มักนำหน้าคำกริยา เช่น การเดิน  การวิ่ง การว่ายน้ำ การแข่งขัน การเสียสละ การรบ การประชุม การเดินทาง เป็นต้น

ส่วน คำว่า “ความ” มักนำหน้าคำวิเศษณ์ เช่น ความสุข ความสำเร็จ ความรัก ความพร้อม ความรู้ ความหวัง ความแห้งแล้ง ความสงบ เป็นต้น

แต่คำบางคำก็สามารถนำหน้าด้วย “การ” หรือ “ความ” ก็ได้ เช่น “การรู้ - ความรู้” “การจำ - ความจำ” “การคิด - ความคิด” เป็นต้น

กระนั้น หากคำว่า “การ” หรือ “ความ” นำหน้าคำที่ไม่ใช่กริยา หรือวิเศษณ์ คำนั้นจะไม่ใช่อาการนาม เช่น การบ้าน การเมือง การประปา การไฟฟ้า เป็นต้น

หน้าที่ของคำนาม

คำนามทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยคดังนี้

- เป็นประธานของประโยค เช่น เหล่าทหารกำลังซ้อมรบ, การเสียสละเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง, พระรามสังหารพาลี
- เป็นกรรมของประโยค เช่น ฉันกินข้าว, การทำความดีทำให้เกิดความสุข, ชาวบ้านยกย่องโหวอี้ที่ยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง
- ใช้ขยายนาม เพื่อทำให้นามที่ถูกขยายชัดเจนขึ้น เช่น นายแสงคนขับรถขับรถไปรับพ่อของสมพงษ์, ศิริศักด์เป็นข้าราชการทหาร
- เป็นส่วนเติมเต็ม เช่น เขาเป็นครูแต่น้องเป็นช่าง, บุษบาเหมือนแม่, ใครคือคนร้าย, เธอชื่อกาหลง
- ใช้ตามหลังคำบุพบท เพื่อบอกสถานที่ หรือขยายกริยาให้ชัดเจนขึ้น เช่น เธออยู่ในห้อง (ตามหลังบุพบท ใน), ตลาดวโรรสอยู่ที่เชียงใหม่ (ตามหลังบุพบท ที่)
- ใช้บอกเวลา โดยขยายคำกริยาหรือคำนามอื่น เช่น ฉันจะไปทอดกฐินเดือนพฤศจิกายน, การประชุมจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์
- ใช้เป็นคำเรียกขานได้ เช่น คุณแม่คะคุณป้ามาหาค่ะ, สุดาช่วยหาของให้ฉันทีสิ

 

คำสรรพนาม

คำสรรพนามเป็นคำที่ใช้แทนคำนาม ในกรณีที่ต้องพูดถึงนามนั้นซ้ำ หรือใช้แทนตัวผู้พูดและแทนตัวผู้อื่น เป็นคำที่ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าใครเป็นผู้พูด ซึ่งผู้พูดจะใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เสมอ โดยแทนผู้ฟังด้วยสรรพนามบุรุษที่ 2 และแทนผู้ที่อยู่นอกการสนทนาด้วยสรรพนามบุรุษที่ 3

คำสรรพนามแบ่งได้ 6 ชนิด คือ

1.) บุรุษสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้แทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่กล่าวถึง แบ่งออกเป็น

- สรรพนามบุรุษที่ 1 ใช้แทนผู้พูด ได้แก่ ฉัน ข้าพเจ้า กระผม ผม ดิฉัน ข้า เรา
- สรรพนามบุรุษที่ 2 ใช้แทนผู้ฟัง ได้แก่ เธอ ท่าน คุณ ใต้เท้า พระคุณ
- สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้แทนคนที่เรากำลังกล่าวถึง ได้แก่ เขา พวกเขา มัน

2.) ประพันธสรรพนาม เป็นสรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค ทำหน้าที่แทนคำนาม หรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า และยังทำหน้าที่เชื่อมประโยคโดยให้ประโยค 2 ประโยคมีความเชื่อมกัน ได้แก่คำว่า ผู้, ที่, ซึ่ง, อัน เช่น

ผู้หญิงคนที่อยู่ในบ้านนั้นเป็นป้าของฉัน

3.) วิภาคสรรพนาม เป็นสรรพนามบอกความชี้ซ้ำที่ ใช้แทนนาม หรือสรรพนาม ที่แยกออกเป็นส่วนๆ ได้แก่คำว่า ต่าง, กัน, บ้าง” เช่น 

นักกีฬาต่างดีใจที่ได้ชัยชนะ
เด็กนักเรียนบ้างก็อ่านหนังสือบ้างก็ร้องเพลง
พี่น้องคุยกัน

4.) นิยมสรรพนาม เป็นสรรพนามที่ใช้แทนนามชี้เฉพาะเจาะจง หรือบอกความใกล้ไกล ที่เป็นระยะทาง ได้แก่คำว่า นี่, นั่น, โน่น, นี้, นั้น, โน้น เช่น

นี่เป็นของขวัญที่เธอให้ฉัน
โน่นเป็นรถที่จะพาเราไป

5.) อนิยมสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้แทนนามบอกความไม่ชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่คำว่า ใคร, อะไร, ที่ไหน, ผู้ใด บางครั้งก็เป็นคำซ้ำๆ เช่น ใครๆ, อะไรๆ, ไหนๆ เช่น

ใครจะไปกับฉันก็ได้
ไหนๆ ก็มาแล้ว
ผู้รู้ย่อมไม่พูด ผู้พูดย่อมไม่รู้

6.) ปฤจฉาสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้ในการถาม ได้แก่คำว่า ใคร, อะไร, ผู้ใด, ไหน ปฤจฉาสรรพนามต่างกับอนิยมสรรพนามตรงที่ อนิยมสรรพนามใช้ในประโยคบอกเล่า หรือปฏิเสธ แต่ปฤจฉาสรรพนามใช้ในประโยคคำถาม เช่น

ใครมาหน้าบ้าน
อะไรอยู่ในห้อง
ไหนร้านที่เธอบอก
หน้าที่ของคำสรรพนาม


คำสรรพนามทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยคดังนี้

- ใช้เป็นประธานของประโยค เช่น เขาไปเที่ยวกระบี่, ใครอยู่ที่ในห้อง
- ใช้เป็นกรรมของประโยค เช่น แม่ฆ่ามัน, ตำรวจจับฉัน
- เป็นส่วนสมบูรณ์หรือส่วนเติมเต็ม เช่น คนที่ทนเจ็บช้ำคือเรา
- ใช้เชื่อมประโยค เช่น คนที่ทำดีควรได้รับรางวัล

 

คำกริยา

คำกริยาเป็นคำที่ใช้บอกอาการของนาม หรือสรรพนาม ให้รู้ว่านาม หรือสรรพนามนั้นๆ มีอาการอย่างไร หรือทำอะไร แบ่งได้เป็น

1.) อกรรมกริยา คือ กริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับ เช่น ไก่ขัน, หมาเห่า

2.) สกรรมกริยา คือ กริยาที่มีกรรมมารับจึงจะได้ใจความสมบูรณ์ เช่น ฉันอ่านหนังสือ, น้องขี่จักรยาน

3.) วิกตรรถกริยา คือ กริยาที่ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ต้องอาศัยคำนาม สรรพนาม หรือคำวิเศษณ์มาเติมข้างหลัง จึงจะได้ใจความ ได้แก่กริยาคำว่า ว่า, เหมือน, คล้าย, เท่า, คือ, เสมือน, ประดุจ, แปลว่า เช่น คุณเป็นนักดนตรี, ลูกคล้ายกับเรา, น้ำใจประดุจน้ำทิพย์

4.) กริยานุเคราะห์หรือกริยาช่วย เป็นคำที่ช่วยให้กริยาอื่นที่อยู่ข้างหลังครบความ เพื่อบอกกาล หรือบอกการกระทำให้สมบูรณ์ ได้แก่ กำลัง, คง, ย่อม, ต้อง, เคย, ให้, ยอม, แล้ว, เสร็จ, ถูก, น่าจะ, จะ, จะได้, นะ, เถิด, เถอะ, สิ, ดอก, หรอก, จง, อย่า

กริยานุเคราะห์จะวางอยู่หน้าคำกริยา หรือหลังคำกริยาก็ได้ เช่น ประจักษ์ถูกครูดุ, เขาน่าจะสอบไม่ผ่าน, แม่ซักผ้าเสร็จ, พ่อกำลังไปตกปลา, พรุ่งนี้ฝนคงไม่ตก, เราเจอกันพรุ่งนี้นะ, ฉันไม่ไปกับเขาหรอก, คุณไปคนเดียวเถอะ, ผมไปด้วยคนสิ, เธอเคยไปที่นั่นมาแล้ว, นักท่องเที่ยวย่อมไปที่นั่น, ตำรวจโบกให้รถหยุด, รถไฟต้องหยุดที่สถานี, ทุกคนอย่าฝ่าฝืนกฎจราจร


5.) กริยาสภาวมาลา คือ กริยาที่ทำหน้าที่เป็น ประธาน กรรม หรือบทขยายของประโยคก็ได้ เช่น ว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดี (ว่ายน้ำ เป็นประธานของประโยค), ชาวจีนชอบเที่ยวเชียงใหม่ (เที่ยว เป็นกรรมของกริยา ชอบ), เขาซื้อดอกไม้เพื่อมอบให้ฉัน (มอบ เป็นบทขยายกริยา ซื้อ)

หน้าที่ของคำกริยา

คำกริยาทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยคดังนี้

- เป็นกริยาหลักของประโยค เช่น วีรภาพไปโรงเรียนทุกวัน
- เป็นประธานของประโยค เช่น ดูละครเป็นงานหลักของแม่บ้าน
- เป็นกรรมของประโยค เช่น ภราดรชอบเล่นเทนนิส
- เป็นตัวขยายกริยาหลัก เช่น ทหารกำลังแบกปูนไปโบกตึก
- เป็นส่วนขยายกรรม เช่น โรสชอบดูดาวตก

 

คำวิเศษณ์ 

คำวิเศษณ์เป็นคำที่ใช้ขยายคำนาม สรรพนาม กริยา และคำวิเศษณ์เอง เพื่อให้ข้อความนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะคำวิเศษณ์เป็นคำที่บอกคุณสมบัติ หรือลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆ รวมทั้งอาการต่างๆ

เช่น เมื่อเราระบุถึงบ้านหลังหนึ่ง คำวิเศษณ์จะบอกให้รู้ว่า เรากำลังหมายถึงบ้านที่มีสีแดง ไม่ใช่บ้านสีเขียว หรือเมื่อเรากำลังพูดถึงคนที่วิ่งอยู่ คำวิเศษณ์จะบอกให้รู้ว่า เรากำลังระบุถึงคนที่วิ่งเร็วที่สุด ไม่ใช่คนที่วิ่งช้าๆ เป็นต้น

คำวิเศษณ์แบ่งเป็น 10 ชนิด

1.) ลักษณวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ที่บอก สี ขนาด สัณฐาน กลิ่น รส เช่น น้ำเย็นจัดอยู่ในแก้วใสแจ๋ว, ข้าวผัดจานนี้มีรสหวาน, ประยุทธ์สูงที่สุดในห้อง

2.) กาลวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น อดีต เช่น คนในอดีตเป็นที่น่าจดจำ, เธอไปก่อนฉันตามไปทีหลัง

3.) สถานวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกสถานที่ อาทิ ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ เช่น เขาอยู่ใกล้เธออยู่ไกล, แม่ทัพอยู่บนข้าอยู่ล่าง, เชียงใหม่อยู่เหนือกระบี่อยู่ใต้

4.) ประมาณวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกจำนวน หรือปริมาณ อาทิ หนึ่ง สอง สาม มาก น้อย ที่หนึ่ง หลาย เช่น ฉันเลี้ยงแมวสี่ตัว, ป้ามีที่ดินมากมาย

5.) นิยมวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกความชี้เฉพาะ อาทิ นี่ นั้น โน้น ทั้งนี้ เช่น ฉันชอบรถคันนี้, บ้านหลังนั้นโดนไฟไหม้

6.) อนิยมวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์บอกความไม่ชี้เฉพาะ อาทิ ใด อื่นๆ กี่ ไหน อะไร เช่น ฉันจะไปที่ไหนก็ได้, พูดอะไรระวังๆ หน่อย

7.) ปฤจฉาวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ใช้ถาม อาทิ ใด ไร ไหน อะไร ทำไม อย่างไร เช่น คุณจะไปไหนครับ, คุณคิดจะทำอะไร

8.) ประติชญาวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ใช้แสดงการขานรับหรือโต้ตอบ อาทิ ครับ ขอรับ ขา คะ จ๋า เช่น คุณครูครับผมมีเรื่องอยากปรึกษาคุณครูครับ, คุณแม่ขาปูน้อยหนีบมือค่ะ

9.) ประติเษธวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์แสดงความปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ อาทิ ไม่ ไม่ใช่ มิใช่ มิได้ เช่น เขาไม่ใช่เพื่อนฉัน, ฉันไม่ได้หยิบของของเขา

10.) ประพันธวิเศษณ์ เป็นคำวิเศษณ์ประกอบคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ เพื่อเชื่อมประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน อาทิ ที่, ซึ่ง, อัน เช่น ขวดสีแดงที่อยู่ด้านในสุดหล่นแตก, อาหารจานนี้มีรสเค็มซึ่งเกินค่ามาตรฐาน

 

หน้าที่ของคำวิเศษณ์ 

คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยคดังนี้

- ทำหน้าที่ขยายนาม (ประธาน) เช่น รถคันนี้จอดอยู่ริมถนน, เก้าอี้ที่ฉันนั่งไม่แข็งแรง
- ทำหน้าที่ขยายสรรพนาม เช่น ใครบ้างจะไปเที่ยวกับฉัน, ฉันเองเป็นคนเก็บของ
- ทำหน้าที่ขยายคำกริยา เช่น เธอพูดมาก, เขากินจุแต่ไม่อ้วนนะ, เมื่อวานนี้ฝนตกหนัก
- ทำหน้าที่ขยายคำวิเศษณ์ เช่น เขาเป็นคนยากจนมาก (ยากจน เป็นคำวิเศษณ์), เธอเป็นคนน่ารักมาก (น่ารัก เป็นคำวิเศษณ์)

 

คำบุพบท

คำบุพบทเป็นคำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำ 2 คำให้สัมพันธ์กัน อาจนำหน้าคำนาม สรรพนาม หรือกริยาที่ทำหน้าที่เป็นนาม เพื่อบอกสถานการณ์ให้ชัดเจนขึ้น แบ่งได้เป็น

1.) บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของ เช่น พ่อซื้อบ้านของคุณอา
2.) บอกความเกี่ยวข้อง เช่น เธอไปกับเขา
3.) บอกความประสงค์ เช่น อาหารนี้สำหรับไปทำบุญ
4.) บอกเวลา เช่น เขามาตั้งแต่บ่าย
5.) บอกสถานที่ เช่น เธอมาจากอุดรธานี
6.) บอกความเปรียบเทียบ เช่น เหล็กหนักกว่าไม้

 

คำสันธาน 

คำสันธานเป็นคำที่ใช้เชื่อมคำ เชื่อมความ และเชื่อมประโยค ให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกันและสละสลวย แบ่งได้เป็น

1.) เชื่อมคำกับคำ ได้แก่คำว่า และ, กับ เช่น เขาและเธอต้องทำงาน, แมวกับหนูเป็นศัตรูกันเสมอ

2.) เชื่อมประโยคกับประโยค ได้แก่คำว่า หรือ, และ, เพราะ, จึง, แต่ เช่น เธอจะทานข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว

3.) เชื่อมข้อความกับข้อความ ได้แก่คำว่า เพราะฉะนั้น, แม้ว่า…ก็, เพราะ…จึง เช่น เพราะเขาขยันหมั่นเพียร เขาจึงร่ำรวย, ฉันชอบอากาศหนาว เพราะฉะนั้น ฉันจึงชอบไปเที่ยวยุโรป, แม้ว่าเมืองไทยจะร้อน ชาวต่างชาติก็ยังชอบมาเที่ยว

4.) เชื่อมความให้สละสลวย ได้แก่คำว่า ก็, อันว่า, อย่างไรก็ตาม, อนึ่ง เช่น เขาก็เป็นคนดีคนหนึ่ง, อันว่ากริยามารยาทอันงดงามนั้น ย่อมเป็นที่ชื่นชมของผู้ที่พบเห็น, อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต

 

คำอุทาน

คำอุทานเป็นคำที่เปล่งออกมาโดยอาจไม่มีความหมาย แต่เน้นที่การแสดงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด แบ่งได้เป็น

1.) คำอุทานบอกอาการ คือ คำอุทานที่สื่อให้รู้อาการต่างๆ ของผู้พูด เช่น อาการดีใจ เสียใจ ตกใจ และประหลาดใจ เป็นต้น ได้แก่คำว่า เอ๊ะ! โอ๊ย! อ๊ะ! เฮ่! เฮ้ย! โธ่! อนิจจา! แหม! ว้า! ว้าย! วุ้ย! เป็นต้น

คำอุทานแสดงอารมณ์มักจะมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) อยู่ด้านหลัง

2. อุทานเสริมบท เป็นคำอุทานที่ใช้เสริมคำอื่น เพื่อให้คล้องจอง หรือเป็นคำสร้อยในคำประพันธ์ คำเสริมอาจอยู่ข้างหน้า หรือข้างหลังคำหลักก็ได้ เช่น โบร่ำโบราณ, บ้านนอกคอกนา, ละคงละคร, ผลม้งผลไม้ หรืออยู่กลางคำอื่น เช่น ผลหมากรากไม้

ส่วนคำสร้อยอื่น ก็ได้แก่ นา, แลนา, แฮ, เฮย, เอย

ในคำประพันธ์หรือสร้อยคำ ก็เช่น ชังกันบ่แลเหลียว ตาต่อ กันนา

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว