การพูดแสดงความคิดเห็น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 32.7K views



การพูดแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งการสนับสนุน คัดค้าน วิจารณ์ หรือนำเสนอความคิดใหม่ๆ แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่ขัดกับกฎหมาย การแสดงความคิดเห็นมุ่งให้ผู้ฟังคล้อยตามความคิดเห็นของเรา จึงเป็นการฝึกทักษะการพูดที่ดี ที่จะนำไปใช้ในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือการประกอบอาชีพในอนาคต

ภาพ : shutterstock.com

 

การพูดแสดงความคิดเห็น มี 4 ประเภท ดังนี้

1. การพูดในเชิงสนับสนุน

เป็นการพูดสนับสนุนความคิดของผู้อื่น ที่เรามีความคิดไปในทางเดียวกัน หรือตรงกัน ความเห็นเชิงสนับสนุนต้องมีประโยชน์ไปในทางสร้างสรรค์ ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ จะต้องเป็นความคิดเห็นที่สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องที่กำลังพูดกันอยู่

2. การพูดในเชิงคัดค้าน

เป็นการพูดในกรณีที่มีความเห็นความคิดไม่ตรงกัน การพูดในแนวทางนี้ต้องระมัดระวังในการพูดอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดการวิวาทะ ทะเลาะเบาะแว้งกันได้ การนำเสนอความคิดเห็นขัดแย้งควรมุ่งไปในทางสร้างสรรค์ ใช้น้ำเสียงไม่แข็งกร้าว ไม่ได้มุ่งเพื่อหักล้างความคิดแบบแตกหัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก

3. การพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์

เป็นการพูดเพื่อวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจจะแสดงความคิดเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย และต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ จะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่อคติต่อผู้พูดหรือสิ่งที่เห็น เช่น การวิจารณ์ละคร วิจารณ์เพลง วิจารณ์ภาพยนตร์ เป็นต้น ซึ่งผู้ฟังอาจจะเห็นด้วยกับการวิจารณ์หรือไม่เห็นด้วยก็ได้

4. การพูดในเชิงนำเสนอความคิดใหม่ๆ

ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่มีการนำเสนอ ก็ให้แสดงความคิดเห็นของตนที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว