การเล่าเรื่อง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.9K views



เราอาจนึกถึงครั้งเมื่อเราฟังนิทาน ที่ผู้ใหญ่ หรือคุณพ่อคุณแม่ เคยเล่าให้เราฟัง ถ้าผู้เล่ามีความสามารถในการเล่านิทาน เช่นทำเสียงประกอบได้ ทำเสียงของตัวละครต่างๆ ได้ ก็จะทำให้ผู้ฟังมีความสนุก ผู้ฟังสามารถจินตนาการตามไปด้วยได้ แต่การเล่าเรื่องที่ดี ทั้งการเล่านิทาน การเล่าประวัติบุคคล หรือการเล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ยังมีวิธีการมากกว่านั้น

ภาพ : shutterstock.com

 

การเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเล่านิทาน การเล่าประวัติบุคคล หรือการเล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ก็มีหลักการเล่าเหมือนๆ กันดังนี้

1. ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างละเอียด มีความเข้าใจในเรื่องที่จะเล่าเป็นอย่างดี

2. ต้องเล่าให้เป็นไปตามเหตุการณ์ คือลำดับเหตุการณ์ตามเวลาให้ถูกต้อง ไม่สลับไปสลับมา จะทำให้ผู้ฟังสับสนในการฟัง

3. ต้องเตรียมตัว เตรียมเรื่อง ฝึกซ้อมให้คล่องแคล่ว อาจใช้วธีการพูดหน้ากระจกเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการเล่าเรื่องนั้นๆ

4. พูดเสียงดัง ฟังชัด มีวรรคตอน ออกเสียงตามอักขระวิธี ตัวควบกล้ำ ร ล ชัดเจน การออกเสียงไม่ชัดเจน อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกสะดุด อาจจะหงุดหงิดกับการพูดออกเสียงผิดๆ ของเราได้

5. ใช้น้ำเสียงในการพูด จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกเพลิดเพลินได้ เช่น รู้จักใช้เสียงเล็ก เสียงน้อย เสียงหนัก เบา ตามอารมณ์ของเรื่องที่เล่า ประสมกับลีลาท่าทาง ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกสนานมากขึ้นได้

6. ใช้ภาษาสุภาพในการเล่าเรื่อง อาจยกเว้นในส่วนที่เป็นบทพูดของตัวละคร ที่อาจจะคงคำพูดเดิมไว้ซึ่งอาจจะไม่สุภาพ ก็ให้เป็นไปตามเรื่องที่เล่า ซึ่งผู้ฟังจะเข้าใจได้เองในเรื่องนั้น

7. เป็นไปตามกำหนดเวลา เวลาจะเป็นเครื่องบ่งบอกว่าผู้เล่าเตรียมตัวมาดีเพียงใด ผู้เล่าเรื่องที่ดี ต้องสามารถเล่าเรื่องให้จบครบถ้วนได้ในเวลาที่กำหนด


เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว