มารยาทในการเขียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.6K views



การเขียน เป็นทักษะที่สำคัญในการสื่อสาร เพราะสามารถบันทึกสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่าน ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือให้ผู้อื่นอ่านได้ การเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจตามที่ผู้เขียนต้องการได้ นับเป็นผลสำเร็จของการเขียน เมื่อโตขึ้นก็ต้องใช้งานเขียนประกอบการเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือประกอบการทำงานต่อไป ซึ่งการจะเป็นผู้เขียนที่ดีนั้น ต้องตระหนักถึงมารยาทในการเขียนด้วย

ภาพ : shutterstock.com

 

มารยาทในการเขียนสามารถสะท้อนจากสิ่งเหล่านี้

1. เขียนในสิ่งที่สร้างสรรค์ ไม่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น พยายามหลีกเลี่ยงการเขียนในทางลบ โดยเฉพาะข้อเขียนที่เป็นข้อคิดเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง จำต้องระวังในเรื่องนี้อย่างมาก

2. เขียนในสิ่งที่เป็นจริง มีการค้นคว้าข้อมูลอย่างถูกต้อง ไม่เขียนเรื่องที่เป็นเพียงการคาดเดาโดยปราศจากหลักฐานรองรับ เหมือนสำนวนที่ว่า “นั่งเทียนเขียน” ซึ่งทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ

3. ใช้ภาษาสุภาพ เหมาะสมกับรูปแบบของงานเขียน ไม่มีใครไม่ชอบความสุภาพ ความสุภาพใช้ได้กับทุกวงการ ทุกสถานการณ์ การเขียนโดยใช้ภาษาสุภาพ สะท้อนท่าทีเป็นมิตร และเสน่ห์ของผู้เขียน

4. หากต้องเขียนด้วยลายมือ ให้เขียนด้วยลายมือที่อ่านง่าย สวยงาม สะอาดสะอ้าน เพื่อผู้อ่านจะสบายตา สบายใจ ไม่หงุดหวิด ลายมือสวยลายมือดียังบ่งบอกถึงความตั้งใจที่จะเขียนเรื่องนั้นๆ ด้วย

5. บอกแหล่งที่มาและชื่อผู้แต่ง หากคัดลอกข้อความมาจากหนังสือเล่มอื่น นับเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก ที่จะต้องบอกแหล่งอ้างอิงในงานเขียนหากไปคัดลอกงานเขียนของผู้อื่นมา ถือเป็นการให้เกียรติเจ้าของงานเขียนด้วย ซึ่งนับเป็นมารยาทที่ดีของการเขียน

6. เขียนให้ถูกต้องตามอักขรวิธี และรูปแบบการเขียน นอกจากเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเรามีความรู้ในการเขียนที่ดี ยังเป็นการให้เกียรติผู้อ่านว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ทางภาษาดีเช่นกัน

 

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว