การเขียนย่อความ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2.9K views



การเขียนย่อความ เป็นการนำเนื้อหาส่วนที่สำคัญของเรื่องที่อ่าน อาจเป็นวรรณคดี หรือบทความในสื่อต่างๆ มาเขียนสรุป จึงต้องมีใจความสำคัญครบถ้วน และเขียนย่อใหม่ด้วยสำนวนของเราเอง

ภาพ : shutterstock.com

 

หลักการเขียนย่อความ

1. ทำความเข้าใจเจตนาผู้เขียน ว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารประเด็นอะไร ซึ่งต้องใช้เวลาพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้ายังไม่รู้เจตนา ก็ต้องนั่งอ่านซ้ำๆ เพื่อทำความเข้าใจ

2. เก็บรายละเอียด จับเอาส่วนประเด็นสำคัญๆ มาเขียนใส่กระดาษไว้ แล้วค่อยๆ นำมาเรียบเรียง ร้อยเรียงใหม่ ตามความเข้าใจของเรา ด้วยสำนวนเขียนของเราเอง อย่ายกข้อความทั้งส่วนเอามาต่อๆ กัน ซึ่งไม่ใช่หลักในการเขียนย่อความ

3. ระวังเรื่องสรรพนาม เมื่อเรานำความเรียงมาเขียนใหม่ ต้องเปลี่ยนสรรพนามให้ถูกต้อง เช่น จากสรรพนามบุรุษที่ 1 เมื่อนำมาเล่าใหม่ ควรเปลี่ยนเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นต้น

4. การใช้คำราชาศัพท์ เนื่อหาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ ต้องคงคำราชาศัพท์ไว้ จะเปลี่ยนเป็นคำสามัญไม่ได้เด็ดขาด แม้จะย่อความเป็นสำนวนของเรา ก็ต้องใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้องด้วย

5. การอ้างอิง ต้องบอกที่มาของย่อความเสมอ ว่ามาจากไหน หนังสือเล่มใด เว็บไซต์อะไร ใครเป็นผู้แต่ง เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้เขียนต้นเรื่อง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว