การเขียนเรียงความ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 22.3K views



เรียงความ 1 เรื่อง เปรียบเหมือนเพลง 1 เพลง เพลงมักจะมีดนตรีนำเข้าไปสู่เนื้อร้อง แล้วจบเนื้อร้องด้วยดนตรีปิดท้าย การเขียนเรียงความก็จะคล้ายๆ กัน ที่ประกอบด้วย คำนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป

ภาพ : shutterstock.com

 

องค์ประกอบของเรียงความ 

1. คำนำ (เปรียบเหมือนดนตรีท่อนนำของเพลง)

คำนำเป็นส่วนแรกของเรียงความ เหมือนเป็นการโฆษณาเนื้อเรื่องที่จะเจอต่อไป ผู้เขียนต้องสามารถขมวดคำนำเข้าสู่เนื้อเรื่องให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อให้ได้ การเขียนจึงต้องกระชับ ไม่ยาวเกินไป เหมือนดนตรีช่วงนำ ถ้ายาวเกินไปจะทำให้ผู้อ่านเบื่อเสียก่อนที่จะฟังต่อไป 

2. เนื้อเรื่อง (เปรียบเหมือนเนื้อเพลง)

เนื้อเรื่องจะมีกี่ย่อหน้าก็ได้ แล้วแต่เนื้อหาที่จะเขียน เนื้อเรื่องต้องมีความเป็นเอกภาพ คือมุ่งนำเสนอประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว หรือมีสาระสำคัญเดียวนั่นเอง เช่น จะเขียนเรื่องมะพร้าว ก็ต้องเป็นเรื่องมะพร้าวไปจนจบ ไม่ต้องไปกล่าวนอกเรื่องถึงเรื่อง แอปเปิล มะละกอ กล้วย ส้ม ถ้าไม่มีความจำเป็น ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านสับสนว่าเราเขียนเรื่องอะไรกันแน่ ดังนั้น ก่อนจะเขียนก็ต้องวางโครงเรื่องไว้ก่อน แล้วเขียนเรียงไปตามลำดับ ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย และเหมาะสมไปจนจบ

3. บทสรุป (เปรียบเหมือนดนตรีท่อนท้ายเพลง)

บทสรุปคือ การขมวดเรื่องราวทั้งหมดที่เขียนให้จบลงอย่างสมบูรณ์ การจบจะประทับใจผู้อ่านหรือไม่ ก็อยู่ที่ผู้เขียนว่าจะใช้การจบแบบใด อาจจะยกข้อคิด คำคม สุภาษิต ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องที่เขียนมาเป็นตัวจบของเรื่องก็ได้

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว