หนังสือประเภทต่าง ๆ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3K views



นักดาบที่ดีต้องเลือกดาบที่เหมาะกับตนเอง เหมาะมือ คม และแข็งแกร่ง ฉันใด ถ้าอยากจะเป็นนักอ่านที่ดี ก็ต้องรู้จักเลือกหนังสือที่ดีมาอ่าน ตรงตามความต้องการ ฉันนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หนังสืออ่านเพิ่มเติม หนังสืออ้างอิง หรือหนังสืออุเทศ ก็เป็นหนังสือที่ดีได้ทั้งนั้น

ภาพ : shutterstock.com

 

ลักษณะของหนังสือที่ดี

จะเลือกหนังสืออ่านอย่างไร มีข้อแนะนำเกี่ยวกับหนังสือที่ดีดังนี้

1. เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล รางวัลของหนังสือ เป็นเครื่องยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า หนังสือเล่มนั้นดี หรือน่าอ่าน

 2. ผู้แต่งมีชื่อเสียง คือ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องในวงการนักเขียน นักอ่าน ว่าเป็นนักเขียนชั้นครู มีคุณภาพ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ทมยันตี, รพีพร หรือพนมเทียน เป็นต้น

3. เป็นหนังสือเก่าแก่ ที่มีมาแต่โบราณ เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” “พระราชพิธีสิบสองเดือน” “สามก๊ก” “ราชาธิราช” เป็นต้น

4. เป็นหนังสือที่มีคุณค่า หรือดีพร้อมทุกด้าน เช่น “สี่แผ่นดิน” มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง เรื่องในรั้วในวัง ราชาศัพท์ ภาษา และอีกมากมาย

5. เนื้อหาหนังสือเป็นในทางที่ดี มุ่งในทางสร้างสรรค์ ไม่มีเนื้อหาลามกอนาจาร หรือมุ่งให้แตกสามัคคี อันเป็นทางเสื่อมต่างๆ

คุณครูบรรณารักษ์จะเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำที่ดี เกี่ยวกับการเลือกหนังสือที่จะอ่านได้

 

หนังสืออ่านที่ครูและนักเรียนกำหนดร่วมกัน

นอกจากหนังสือแบบเรียน แบบฝึกหัดแล้ว ยังมีหนังสือที่ใช้ในการเรียนดังนี้

- หนังสืออ่านนอกเวลา

เป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้ใช้ในการเรียนตามหลักสูตร เช่น ในวิชาภาษาไทย มีหนังสือนอกเวลาที่ครูคัดเลือกให้อ่าน ที่นักเรียนต้องอ่านเองนอกเวลาเรียน เพื่อเสริมทักษะการอ่าน เสริมความรู้ จริยธรรม ฯลฯ โดยครูอาจทดสอบนักเรียนด้วยการใช้ข้อสอบวัดความรู้จากการอ่านหนังสือนอกเวลาด้วย

- หนังสืออ่านเพิ่มเติม

เป็นหนังสือที่ใช้อ่านเพื่อเสริมความรู้ในวิชาที่เรียน นอกเหนือจากหนังสือเรียน เช่น หนังสือในห้องสมุดที่นักเรียนอาจจะอ่านนอกเหนือไปจากที่เรียนในชั้นเรียน ทั้งหนังสือประวัติศาสตร์ วรรณคดีต่างๆ และหนังสือทุกขอบข่ายวิชาที่เรียน

- หนังสืออ้างอิงหรือหนังสืออุเทศ

พจนานุกรม ดิกชันนารี เป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับค้นคว้าความหมายของคำศัพท์ที่เชื่อถือได้ เป็นที่ยอมรับว่าถูกต้อง แหล่งหนังสืออ้างอิงที่สำคัญคือ ห้องสมุด ที่นักเรียนจะใช้ค้นคว้าหาความรู้ ข้อมูล เพื่อทำรายงานในวิชาต่างๆ เมื่อได้รับคำสั่งจากครูผู้สอน

- หนังสือเสริมการอ่าน

เป็นหนังสือที่อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อเป็นการสร้างเสริมลักษณะนิสัยรักการอ่าน เช่นนิทาน นิยาย นวนิยาย รวมถึงหนังสือสารคดีต่างๆ อาทิ หนังสือแนะนำแหล่งท่องเที่ยว หนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง การปลูกต้นไม้ นักเรียนมักจะได้รับความรู้ ความเพลิดเพลิน และติดนิสัยชอบอ่านหนังสือจากหนังสือเสริมการอ่านนี้

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว