มารยาทในการฟัง การดู และการพูด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 85.3K views



มารยาทในการฟัง การดู และมารยาทในการพูด ล้วนแล้วเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทุกคนควรเรียนรู้ไว้ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในที่ประชุมชนด้วยแล้ว มารยาทต่างๆ เหล่านี้ยิ่งมีความสำคัญ

ภาพ : shutterstock.com

 

มารยาทดี มารยาทงาม เป็นคุณสมบัติที่ดีที่ทุกคนควรจะมี ควรปลูกฝังให้เป็นนิสัย มารยาทเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม กิจกรรมทุกกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่นจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น จำเป็นต้องมีมารยาท

การฟัง การดู และการพูดก็เช่นเดียวกัน ถ้าฟังและดูคนเดียวในสถานที่ส่วนตัว ก็ไม่จำเป็นต้องรักษามารยาท แต่ถ้าเป็นการฟังและการดูร่วมกับผู้อื่น ต้องรักษามารยาทเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้อื่น ทั้งผู้พูด ผู้แสดง และผู้ฟังหรือผู้ดูด้วยกัน

มารยาท หมายถึง กิริยาอาการที่แสดงออกให้ปรากฏทางกายและทางวาจาอย่างถูกต้อง เรียบร้อย งดงาม ตามคตินิยมของคนในสังคม มารยาทเป็นเครื่องหมายของความเป็นผู้มีวัฒนธรรมที่ดีงาม

 

มารยาทในการฟังและการดู

1. แต่งกายสุภาพเรียบร้อย เพื่อให้เกียรติผู้พูดและให้เหมาะแก่กาลเทศะ

2. ตั้งใจฟังโดยไม่ซักถาม หรือพูดคุยกันจนกว่าผู้พูดจะพูดจบ ไม่ควรลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นระหว่างที่ผู้พูดกำลังพูด หากมีเหตุจำเป็นต้องลุกออกไป ควรแสดงความเคารพผู้พูดทั้งก่อนออกจากห้องและเมื่อกลับเข้ามาในห้อง

3. ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด เพื่อมิให้รบกวนสมาธิของผู้พูด และผู้ฟังคนอื่นๆ หากเป็นเหตุสุดวิสัย ควรขออนุญาตออกไปพูดนอกห้องประชุม

4. ไม่ทำกิจกรรมอื่นที่แสดงว่าไม่สนใจ หรือไม่ให้เกียรติผู้พูด เช่น หลับ รับประทานอาหาร ทำงานอื่น

5. อาจจดบันทึกข้อความที่สนใจหรือข้อความที่สำคัญ หากมีข้อสงสัยให้เก็บไว้ถามเมื่อมีโอกาส และถามด้วยกิริยาสุภาพ เมื่อจะซักถามต้องเลือกโอกาสที่ผู้พูดเปิดโอกาสให้ถาม หรือยกมือขึ้นขออนุญาตหรือแสดงความประสงค์ในการซักถามก่อน ถามด้วยถ้อยคำสุภาพ และไม่ถามนอกเรื่อง

 

มารยาทในการพูด

มารยาทในการพูดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล และมารยาทในการพูดในที่สาธารณะ

 

มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล

1. เรื่องที่พูดควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความสนใจ และพอใจร่วมกัน หลีกเลี่ยงเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้ง เพราะเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่เปราะบาง เช่น เรื่องของความเชื่อความศรัทธาของแต่ละคน อย่างเช่น ศาสนา และการเมือง

2. ไม่พูดเรื่องของตนเองมากจนเกินไป ควรพูดเรื่องของผู้สนทนาบ้าง จะเป็นการแสดงออกว่าเราสนใจในตัวเขา ควรฟังในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด ไม่สอดแทรกในขณะที่เขายังพูดไม่จบ

3. พูดให้ตรงประเด็น อาจออกนอกเรื่องบ้างบางคราว พอให้ผ่อนคลายอารมณ์ หากการพูดนั้นดูเคร่งเครียดเกินไป แต่ไม่ควรออกนอกประเด็นไปไกล

4. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่บังคับให้ผู้อื่นเชื่อหรือคิดเหมือนตน เพราะจะทำให้การสนทนานั้นก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้

 

มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ

การพูดในที่สาธารณะต้องรักษามารยาทให้มากกว่าการพูดระหว่างบุคคล เพราะการพูดในที่สาธารณะนั้น ย่อมมีผู้ฟังซึ่งมาจากที่ต่างๆ กัน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และพื้นฐานความรู้ ความสนใจและรสนิยมต่างกันไป ถ้ารู้ตัวว่าจะต้องพูด จะต้องเตรียมตัวให้ดี ดังนี้

1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เหมาะแก่โอกาสและสถานที่ สีสัน ลวดลาย ของเสื้อผ้าต้องคำนึง

2. มาถึงสถานที่พูดให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลาเล็กน้อย การมาช้าเป็นการแสดงออกให้ผู้อื่นคิดไปได้หลายแง่มุม เช่น ไม่รักษาเวลา ไม่เตรียมตัว ไม่ใส่ใจ เป็นต้น

3. ก่อนพูดควรแสดงความเคารพต่อผู้ฟังตามธรรมเนียมนิยม ถ้ามีสัญลักษณ์ของสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต้องทำความเคารพสถาบันก่อนเสมอ

4. ไม่แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควรต่อหน้าที่ประชุม การใช้สีหน้าท่าทาง การมองผู้อื่นด้วยสายตาที่ไม่เหมาะสม เช่น มองด้วยหางตา มองจ้อง เป็นอาการที่ไม่สุภาพ

5. ใช้คำพูดที่ให้เกียรติแก่ผู้ฟังเสมอ ไม่ใช้คำพูดแสดงอาการล้อเลียนเหยียดหยาม คำพูดเพียงเล็กน้อยที่พูดออกไป อาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีแก่ผู้ฟังได้

6. ไม่พูดพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่นในที่ประชุม

7. ไม่พูดหยาบโลน หรือตลกคะนอง

8. พูดให้ดังพอได้ยินทั่วกันและไม่พูดเกินเวลาที่กำหนด


 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว