การเขียนตัวอักษรไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 38.2K views



การศึกษาวิธีการเขียนตัวอักษรไทยที่ถูกต้องนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีของประชาชนชาวไทย นอกจากนี้ การฝึกคัดลายมือยังช่วยให้เรามีสมาธิ และเกิดความชำนาญในการเขียนต่างๆ การคัดลายมือโดยทั่วไปมีทั้งแบบการคัดลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัด และการคัดลายมือตัวบรรจงครึ่งบรรทัด

ภาพ : shutterstock.com

ตัวอักษรไทย

ตัวอักษรไทยในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่สามารถจัดตามลักษณะตัวอักษรได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทตัวกลมหรือตัวมน และประเภทตัวเหลี่ยม

ประเภทตัวกลมหรือตัวมน

จะมีเส้นโค้งเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ แบบขุนสัมฤทธิ์วรรณการ และแบบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรูปแบบตัวอักษรของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ถือเป็นแบบตัวอักษรอย่างเป็นทางการ สำหรับใช้ในการพิมพ์หนังสือ ประกาศ ตำราเรียน และแบบเรียน

ประเภทตัวเหลี่ยม

จะมีเส้นตรงเป็นส่วนประกอบ เช่น แบบอาลักษณ์ แบบพระยาผดุงวิทยาเสริม แบบภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

การคัดลายมือ

การคัดลายมือ เป็นการฝึกเขียนตัวอักษรไทยให้ถูกต้องตามหลักการเขียนคำไทย ซึ่งต้องคำนึงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย ต้องเขียนให้อ่านง่าย มีช่องไฟ มีวรรคตอน ตัวอักษรเสมอกัน วางพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ให้ถูกที่ ตัวสะกด ตัวการันต์ถูกต้อง และลายมือสวยงาม ก่อนฝึกคัดลายมือ ต้องฝึกให้นักเรียนนั่งอย่างถูกวิธีก่อน ดังนี้

1. นักเรียนต้องหันหน้าเข้าหาโต๊ะ การนั่งเอียงอาจทําให้หลังคด
2. แขนทั้ง 2 ข้างวางอยูบนโต๊ะ ประมาณ 3 ใน 4 ของความยาวระหว่างศอก กับข้อมือพาดไว้กับขอบโต๊ะ หากไม่ทําเช่นนี้ อาจทําให้กระดูกสันหลังคด
3. กระดาษต้องวางไว้หน้าผู้เขียน การวางกระดาษไม่ตรง ทําให้ผู้เขียนต้องเอียงคอ สายตาทํางานมาก อาจทําให้กระดูกสันหลังคด
4. ส่วนล่างของกระดาษทํามุมกับขอบโต๊ะ 30 องศา
5. แขนของมือที่เขียนต้องทํามุมที่เหมาะสมกับตัวอักษร ข้อศอกต้องไม่กางออกหรือแนบตัวมากเกินไป
6. การวางมือ ฝ่ามือควํ่าลง มืองอ ทํามุม 45 องศากบข้อมือ นิ้วกลาง รองรับดินสอหรือปากกา นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจะประคองดินสอ หรือปากการ่วมกับนิ้วกลาง มือจะพักอยู่บนนิ้วนางและนิ้วก้อย
7. จับดินสอหรือปากกาพอเหมาะ ไม่แน่นเกินไป นิ้วที่จับโค้งเล็กน้อย
8. ในขณะที่คัดลายมือ แขน มือ และนิ้วมือจะต้องเคลื่อนไหวให้สัมพันธ์กัน
9. การเคลื่อนไหวของดินสอหรือปากกาในขณะที่คัดแบ่งออกเป็นหน่วย ๆ แต่ละหน่วยมีระยะ หยุดเป็นระยะ ไม่เคลื่อนไหวติดต่อกันโดยตลอด

 

เมื่อนั่งให้ถูกต้องแล้ว การคัดลายมือตามแบบตัวอักษรไทยมีหลักการโดยทั่วๆ ไป ดังนี้

1. เขียนตัวอักษรให้ถูกส่วน ตัวอักษรตั้งตรง การเขียนพยัญชนะไทยทุกตัวต้องเริ่มเขียนหัวก่อน ยกเว้นตัว ก และ ธ ซึ่งไม่มีหัว เว้นช่องไฟและวรรคตอนให้พองาม วางเครื่องหมายต่างๆ ให้ถูกต้องตามตำแหน่ง
2. วางพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ให้ถูกต้องตามตำแหน่ง ซึ่งสระทุกตัวมีตำแหน่งที่สัมพันธ์กับพยัญชนะ
3. โดยทั่วไปแล้วในการคัดลายมือตัวอักษรไทย เราจะแบ่งสัดส่วนของตัวอักษรเป็นลักษณะ 4 ส่วนต่อ 1 บรรทัด ถ้าคัดตัวอักษรให้มีขนาดเต็ม 1 บรรทัดนี้จะเรียกว่า การคัดลายมือตัวบรรจงเต็มบรรทัด แต่หากต้องการคัดลายมือตัวบรรจงครึ่งบรรทัด จะต้องคัดตัวอักษรต่างๆ ให้มีขนาดของส่วนสูงอยู่ภายในส่วนที่ 3 และ 4 เท่านั้น ส่วนหางของตัวอักษรหรือสระและวรรณยุกต์ต่างๆ สามารถอยู่เลยส่วนที่ 3 และ 4 ได้
4. การเขียนตัวอักษรไทยที่ถูกต้องนั้นจะต้องเริ่มจากส่วนหัวกลม ซึ่งมีขนาดเท่ากับ ๑ ส่วน หลังจากนั้นจึงลากเส้นส่วนต่างๆ ตามลำดับ

ประโยชน์ของการคัดลายมือ

1. พัฒนากล้ามเนื้อมือ ตา เกิดความคล่องแคล่วในการเขียน
2. เขียนตัวอักษรไทยได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ สะอาด เป็นระเบียบ ชัดเจน รวดเร็ว และอ่านเข้าใจง่าย
3. ทำให้เกิดความชำนาญจากการคัดไปสู่การเขียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
4. สร้างสมาธิในการทำงาน เกิดวินัยในตนเอง เกิดความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานต่างๆ ให้สำเร็จ


เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว