คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 224.3K views



วรรณคดีเป็นศิลปะแห่งการประพันธ์เรื่องราว จากความหมายของวรรณคดี เราจะเห็นได้ว่าคุณค่าโดยตรงของวรรณคดีก็คือ คุณค่าทางอารมณ์ คุณค่าทางภาษา และคุณค่าทางวัฒนธรรม วรรณคดีมีคุณค่าทางอารมณ์ก็เพราะว่าวรรณคดีเป็นงานศิลปะ จึงมุ่งให้เกิดความเพลิดเพลินทางอารมณ์เป็นหลัก มีคุณค่าทางภาษาก็เพราะวรรณคดีอยู่ในรูปแบบภาษา ใช้ภาษาในการถ่ายทอด และช่วยพัฒนาการใช้ภาษาในเวลาเดียวกัน และมีคุณค่าทางวัฒนธรรมก็เพราะวรรณคดีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนชาติ และในทางกลับกัน วัฒนธรรมของชนชาติก็ถูกจารึกอยู่ในวรรณคดีด้วยเช่นกัน

ภาพ : shutterstock.com

โดยทั่วไปยอมรับกันว่าคุณค่าของวรรณคดีมีหลากหลายด้าน ดังต่อไปนี้

1. คุณค่าทางอารมณ์

จุดหมายหลักของวรรณคดีคือความเพลิดเพลินอารมณ์ ดั่งเช่นงานศิลปะอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์แก่ผู้รับรู้ วรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมแก่ผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความยินดี ความโกรธ ความตื่นเต้น หรือแม้แต่ความสงบ การมีอารมณ์ร่วมไปกับบทประพันธ์ของผู้อ่าน ขึ้นอยู่กับทักษะในการประพันธ์เรื่องของกวีผู้รจนา

2. คุณค่าทางปัญญา

วรรณคดีแทบทุกเรื่อง ล้วนมีเนื้อหาที่เป็นความรู้สอดแทรกอยู่เสมอ ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ในเรื่องต่างๆ โดยปริยาย ทำให้เกิดปัญญาหากผู้อ่านขบคิดใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วน วรรณคดีที่ให้ความรู้ในเรื่องศาสนา เช่น รามเกียรติ์ ไตรภูมิพระร่วง ลิลิตโองการแช่งน้ำ มหาเวสสันดรชาดก วรรณคดีที่ให้ความรู้เรื่องการศึกสงคราม เช่น สามก๊ก ราชาธิราช วรรณคดีที่ให้ข้อคิดเตือนใจ เช่น โคลงโลกนิติ เป็นต้น

3. คุณค่าทางศีลธรรม

หรือคุณค่าในการจรรโลงสังคม เมื่อคนมีความประพฤติอยู่ในศีลในธรรม หรือแม้จารีตประเพณีอันดี ก็ทำให้สังคมเกิดความผาสุก วรรณคดีส่วนมาก โดยเฉพาะวรรณคดีเก่าแก่ มักจะเชิดชูคุณธรรมความดีของตัวละคร เพื่อให้ผู้อ่านซึมซับความดีนั้นๆ และประพฤติปฏิบัติตาม หรือแม้แต่ความประพฤติของตัวละครที่บางครั้งเลวทราม ก็ยังสามารถยกเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรปฏิบัติตามได้ เพราะตัวละครนั้นๆ มักประสบชะตากรรมที่ไม่ดี

4. คุณค่าทางวัฒนธรรม

วรรณคดีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ และยังเป็นบันทึกทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าความรู้เกี่ยวกับคนรุ่นก่อน ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อ ประเพณี ค่านิยม ที่ผู้อ่านสามารถสืบสาวหรือเชื่อมโยงอดีตหรือรากเหง้าของตนเองได้ วรรณคดีที่โดดเด่นในด้านวัฒนธรรม เช่น นิราศต่างๆ ของสุนทรภู่ ขุนช้างขุนแผน สวัสดิรักษา สุภาษิตสอนหญิง กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่เรือ เป็นต้น

5. คุณค่าทางประวัติศาสตร์

แม้วรรณคดีจะมิได้มุ่งให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องตามจริง แต่วรรณคดีหลายเรื่องก็ใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประพันธ์ บางครั้งเราจดจำประวัติศาสตร์ได้จากการอ่านวรรณคดี มากกว่าการอ่านพงศาวดารเสียอีก วรรณคดีที่เน้นบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตยวนพ่าย เป็นต้น หรือแม้แต่วรรณคดีที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพและอมนุษย์อย่างรามเกียรติ์ ก็มีการศึกษากันว่า น่าจะเป็นการแต่งเรื่องจากเค้าโครงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ในช่วงยุคที่ชนชาติอารยันอพยพเข้ามาครอบครองพื้นที่ที่เป็นอินเดียในปัจจุบัน

6. คุณค่าทางจิตนาการ

เนื่องจากวรรณคดีเป็นเรื่องแต่งขึ้น โดยอาจจะอิงมาจากเรื่องจริงหรือไม่ก็ได้ ทำให้ผู้แต่งต้องใส่จินตนาการที่กว้างไกลลงไปในงานประพันธ์ เมื่อผู้อ่านได้อ่านวรรณคดีเรื่องนั้นๆ ก็จะซึมซับจินตนาการของผู้แต่งและอาจจินตนาการต่อยอดออกไปได้อีกด้วย ซึ่งจินตนาการเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรมี เพราะมีหลายต่อหลายครั้งที่จินตนาการได้ช่วยให้เราก้าวออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ได้ ทำให้เราแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ วรรณคดีไทยที่ได้รับการยอมรับว่าโดดเด่นด้านจินตนาการ ได้แก่ พระอภัยมณีของสุนทรภู่

7. คุณค่าทางทักษะเชิงวิจารณ์

การอ่านวรรณคดีมาก จะทำให้เราพัฒนาทักษะในการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เราเกิดความไม่เห็นด้วยกับเนื้อเรื่องหรือแนวคิดบางอย่างที่วรรณคดีหนึ่งๆ เชิดชูว่าถูกต้อง อาจเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความเชื่อหรือค่านิยมของคนในสังคมหนึ่งๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ในปัจจุบันเราอาจไม่เห็นด้วยกับการทำทานด้วยลูกและเมียของพระเวสสันดร ในขณะที่คนสมัยก่อนอาจจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเมื่ออ่านเรื่องนี้ ทำให้เราเกิดความคิดวิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น

8. คุณค่าทางการใช้ภาษา

วรรณคดีถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยภาษา นอกจากคุณค่าด้านอื่นๆ ที่จะถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นถัดไปแล้ว การใช้ภาษาในการประพันธ์ที่งดงามก็ได้รับการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน การอ่านวรรณคดีมาก จะทำให้เราจดจำกลวิธีการร้อยเรียงถ้อยคำที่สวยงาม คมคาย และนำมาใช้พัฒนางานเขียนของตนเองได้ต่อไป

9. คุณค่าที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างวรรณกรรม และศิลปกรรมด้านต่างๆ

วรรณคดีที่แพร่หลายในสังคมชนชาติหนึ่งๆ มาเป็นเวลายาวนาน อดไม่ได้ที่จะส่งผลต่อวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่มีผู้แต่งตามอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิงพื้นหลังของเรื่อง รูปแบบการดำเนินเรื่อง เป็นต้น อีกทั้งงานศิลปะด้านอื่นๆ ที่ศิลปินบรรจงรังสรรค์ขึ้นด้วยความซาบซึ้งใจ ประทับใจในวรรณคดีต้นแบบ วรรณคดีของไทยที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดี และวรรณกรรมอื่น รวมทั้งศิลปกรรมต่างๆ มากที่สุดก็คือ รามเกียรติ์นั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว