การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข่าวสาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 29K views



โลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่นับวันมีแต่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น การรับส่งข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ ทำให้สังคมมนุษย์พัฒนามากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ด้วยความเร่งรีบทำให้การสื่อสารเกิดความผิดพลาดขึ้นได้บ่อยครั้ง รวมทั้งการที่ผู้ส่งสารมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจความจริงคลาดเคลื่อนไป ทำให้เราต้องพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข่าวสารนั้นๆ เพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร สามารถแยกข้อมูลส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นออกจากข้อเท็จจริงได้

ภาพ : shutterstock.com

หลักการแยกข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริง

1. ข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้ ทำให้เห็นว่าเป็นจริงหรือเป็นเท็จได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น น้ำหนัก เวลา อุณหภูมิ สามารถยืนยันได้ด้วยการพิสูจน์ หรือทำให้เห็นว่าเป็นจริงหรือเป็นเท็จได้ตามหลักสถิติ

2. ความคิดเห็น เป็นเรื่องของการคาดคะเน หรือการแสดงความเชื่อของผู้พูดเอง โดยใช้เหตุผลส่วนตัว ความคิดเห็นเป็นสิ่งที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ หรืออาจจะไม่มีถูกมีผิดก็ได้เช่นกัน สามารถโต้แย้งกันได้ด้วยการใช้เหตุผล

 

การวินิจสาร การวิเคราะห์สาร และการจับใจความสำคัญ

การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข่าวสาร ครอบคลุมถึงการพิจารณาข้อมูลในหลายๆ ด้าน ซึ่งมีรายละเอียด และคำเรียกแตกต่างกันดังนี้

1. การวินิจสาร หมายถึง การรับข้อมูลอย่างตั้งใจ พินิจพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน

2. การวิเคราะห์สาร หมายถึง การพิจารณาแยกองค์ประกอบต่างๆ ของสารที่ได้รับ ว่ามีลักษณะอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร หรือมีข้อควรสังเกตอย่างไรบ้าง และผู้อ่านยังต้องแยกแยะให้ออกก่อนด้วยว่า สารนั้นส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง ส่วนใดเป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้ส่งสาร

3. การจับใจความสำคัญ หมายถึง การแยกแยะข้อความส่วนที่เป็นใจความสำคัญ ออกจากส่วนที่เป็นพลความ หรือข้อความประกอบ เพื่อให้สามารถเข้าใจเจตนาของผู้ส่งสารได้ชัดเจนมากขึ้น หรือเข้าใจประเด็นของสารได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์  พลอยแก้ว