การลำดับชั้นหิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 19K views



เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการ และปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้หินที่ปรากฏอยู่บนเปลือกโลก มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดรอยเลื่อน และรอยคดโค้ง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการลำดับชั้นหิน

ตะกอนประเภทต่างๆ สะสมตัวเกิดเป็นชั้น ต่อมาเกิดการทับถมของตะกอนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเวลาผ่านไปหลายล้านปี ชั้นตะกอนดังกล่าวจะแข็งตัวเป็นชั้นหินตะกอนซ้อนกัน โดยปกติหินตะกอนในชั้นแรก ที่ตกทับถมกันก่อนด้านล่าง จะกลายเป็นชั้นหินที่แก่ที่สุด ไล่เรียงลำดับขึ้นมาจนถึงชั้นบน

แต่ในสภาพแวดล้อมจริง โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ชั้นของหินตะกอนที่เรียงลำดับกันอย่างเป็นระเบียบ เปลี่ยนไปได้หลายรูปแบบ ซึ่งอาจเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณี แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด ทำให้ชั้นหินที่อยู่ในแนวราบเกิดการเอียงเท พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน

ภาพ : shutterstock.com

 

นอกจากนี้ โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ปรากฏอยู่ในหิน เช่น รอยเลื่อน รอยคดโค้งของชั้นหินและรอยชั้นไม่ต่อเนื่อง สามารถอธิบายประวัติความเป็นมาของพื้นที่นั้น และช่วยในการลำดับชั้นหินได้

จะเห็นว่าชั้นหิน รอยคดโค้ง รอยชั้นไม่ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในหิน มีความสำคัญในการลำดับชั้นหิน แต่ในกรณีที่ไม่มีชั้นหินและซากดึกดำบรรพ์ปรากฏให้เห็น จะต้องนำโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นในหินทุกชนิด ที่เกิดร่วมกันมาพิจารณาหาความสัมพันธ์ เช่น ถ้ามีหินอัคนีแทรกดันตัดผ่านชั้นหินตะกอน ชั้นหินตะกอนที่ถูกหินอัคนีตัดแทรก จะมีอายุแก่กว่าหินอัคนีชุดนั้นเสมอ ดังนั้น ถ้าเราทราบอายุของหินอัคนี เราก็จะทราบอายุหินตะกอน หรือถ้าเราทราบอายุหินตะกอนโดยศึกษาจากช่วงอายุของซากดึกดำบรรพ์ ก็จะสามารถประมาณอายุหินอัคนีได้เช่นเดียวกัน