วงแหวนไฟ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 41.8K views



ภูเขาไฟส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณที่แผ่นธรณีมาชนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอบๆ มหาสมุทรแปซิฟิก ที่เรียกกันว่า วงแหวนไฟ (Ring of Fire) ซึ่งแผ่นธรณีมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ในลักษณะรูปแบบที่แตกต่างกัน มีทั้งชนกันและแยกออกจากกัน จึงเป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด

วงแหวนแห่งไฟ เป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า และวางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟ และบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก โดยมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายในวงแหวนแห่งไฟทั้งหมด 452 ลูก และเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่น (active volcano) อยู่กว่า 75%

ภาพ : shutterstock.com

 

ร่องเกือกม้าของวงแหวนแห่งไฟ เกิดจากการเคลื่อนที่ และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก ที่เลื่อนและแยกตัวกันเป็นแผ่นๆ และมีชื่อแตกต่างกันไปทั่วโลก จากข้อมูล พบว่าเหตุแผ่นดินไหวประมาณ 90% ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ ทำให้ภูมิประเทศทั้งบนบก ทะเล และใต้พื้นดินบริเวณนี้ เอื้อต่อการเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติมากที่สุด

ประเทศที่ตั้ง หรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ ได้แก่ ประเทศเบลีซ โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ ติมอร์ตะวันออก เอลซัลวาดอร์ ไมโครนีเซีย ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คิริบาตี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นิการากัว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู และสหรัฐอเมริกา

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร