กล้องโทรทรรศน์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 14K views



กล้องโทรทรรศน์ (telescope) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยขยายภาพวัตถุในท้องฟ้าที่อยู่ไกล ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หลักการของกล้องโทรทรรศน์เป็นการรวมแสงให้มากขึ้น เพื่อสามารถมองเห็นวัตถุท้องฟ้า ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า กล้องโทรทรรศน์มี 4 ประเภทได้แก่ กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง กล้องโทรทรรศน์แบบผสม กล้องโทรทรรศน์วิทยุ

ภาพ : shutterstock.com

1. กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง

เป็นการนำเลนส์นูน 2 ชิ้น มาเรียงกันในระยะที่เหมาะสม กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เริ่มนำกล้องมาใช้สังเกตดวงดาว ทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆ มากมายของดวงดาว ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน

กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงใช้เลนส์ 2 ชิ้น คือเลนส์ใกล้วัตถุ ทำหน้าที่หักเหแสงมารวมกันที่จุดโฟกัส และเลนส์ใกล้ตา ทำหน้าที่ขยายภาพให้ผู้สังเกต กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงมักจะค่อนข้างยาว ซึ่งจะยาวเท่ากับความยาวโฟกัสของเลนส์ใกล้วัตถุ และเลนส์ใกล้ตาบวกกัน

2. กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง

ใช้กระจกเงาเว้าแทนเลนส์นูนใกล้วัตถุ โดยทำหน้าที่รับและรวมแสงจากวัตถุ ไปยังกระจกเงาราบให้สะท้อนไปยังเลนส์ใกล้ตา ซึ่งเลนส์ใกล้ตาจะทำให้เกิดภาพขนาดขยาย การใช้กระจกแทนเลนส์นูน จะช่วยแก้ปัญหาภาพที่เกิดจากความคลาดสี และสามารถสร้างให้มีขนาดใหญ่ ได้ในราคาที่ถูกกว่ากล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง ภาพที่ได้เหมือนจริง ไม่กลับหัว มีขนาดของหน้ากล้องที่ใช้ในการรับแสงให้เลือกหลายขนาด

3. กล้องโทรทรรศน์แบบผสม

เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ทั้งเลนส์และกระจก โดยใช้กระจกเว้าผิวทรงกลม ทำหน้าที่รวมแสงในลักษณะเดียวกับกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง และใช้เลนส์ปรับแก้ไขภาพที่หน้ากล้อง กล้องจะมีมุมถ่ายภาพกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ท้องฟ้าได้มาก ภาพที่ได้มีความคมชัด

4. กล้องโทรทรรศน์วิทยุ

วัตถุท้องฟ้า สามารถให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงคลื่นอื่นที่ตาเรามองไม่เห็น เช่น คลื่นวิทยุ รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา ดังนั้น จึงมีการสร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นเพื่อรับสัญญาณดังกล่าว โดยกล้องโทรทรรศน์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดแรกสุด เป็นชนิดรับช่วงคลื่นวิทยุ จึงเรียกรวมๆ กันว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุ 

คลื่นวิทยุเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีช่วงคลื่นยาว นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างกล้องโทรทรรศน์ ที่ตรวจรับคลื่นวิทยุจากดวงดาวบนพื้นผิวโลกได้ ส่วนรังสีเอ็กซ์หรือรังสีแกมมา เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีช่วงความยาวคลื่นสั้น ไม่สามารถทะลุผ่านชั้นบรรยากาศของโลกได้ จึงมีการสร้างกล้องโทรทรรศน์เพื่อส่งขึ้นไปในอวกาศ เพื่อรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าว

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร