ความส่องสว่างของดาวฤกษ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 82.5K views



เมื่อมองดูดาว จะสังเกตว่าดาวแต่ละดวงมีความส่องสว่างแตกต่างกัน ดาวบางดวงสว่างมาก ดาวบางดวงสว่างน้อย โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกความสว่างของดาวฤกษ์ เรียกว่า อันดับความสว่าง หรือแมกนิจูด หรือโชติมาตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ โชติมาตรปรากฏ และโชติมาตรสัมบูรณ์

ภาพ : shutterstock.com

 

ความสว่างของดาวฤกษ์ เป็นพลังงานจากดาวฤกษ์ที่ปลดปล่อยออกมาในเวลา 1 วินาทีต่อหน่วยพื้นที่ มีหน่วยเป็นวัตต์ต่อตารางเมตร นักดาราศาสตร์จึงได้กำหนดค่าการเปรียบเทียบความสว่างของดาวฤกษ์ หรืออันดับความสว่าง โดยมีแต่ตัวเลข ไม่มีหน่วย

ในอดีตกำหนดให้ดาวดวงที่ริบหรี่ที่สุด ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า มีค่าโชติมาตรเป็น 6 และดาวดวงที่สว่างที่สุด ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าโชติมาตรเป็น 1 ดาวที่มีค่าโชติมาตรต่างกัน 1 จะมีความสว่างต่างกัน 2.512 เท่า ถ้ามีค่าโชติมาตรต่างกัน 5 จะสว่างต่างกัน (2.512)5 หรือ 100 เท่า

โชติมาตรของดาวฤกษ์ที่สังเกตได้จากโลก เรียกว่า โชติมาตรปรากฏ ซึ่งนำมาใช้เปรียบเทียบความสว่างที่แท้จริงของดาวฤกษ์ไม่ได้ เพราะเป็นความสว่างที่ปรากฏให้เราเห็นบนโลก แสดงว่าความสว่างนั้น ขึ้นอยู่กับระยะห่างของดาวนั้นกับโลก ถ้าตำแหน่งดาวแต่ละดวงต่างกัน ก็ส่งผลให้ความสว่างต่างกัน และยังขึ้นอยู่กับความสว่างที่แท้จริงของดาวด้วย

ดังนั้น เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบความสว่างของดาวฤกษ์ด้วยกันได้ นักดาราศาสตร์จึงกำหนดโชติมาตรสมบูรณ์ของดาว เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกำลังส่องสว่างของดาวฤกษ์ ที่ระยะห่างจากโลกเท่ากัน โดยกำหนดให้เป็นค่าโชติมาตรเมื่อดาวนั้น อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 10 พาร์เซก หรือ 32.62 ปีแสง และสามารถนำค่าโชติสมบูรณ์ของดาวฤกษ์ มาใช้เปรียบเทียบความสว่างของดาวฤกษ์ได้

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร