แรงเสียดทาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.2K views



เมื่อเราออกแรงในแนวระดับดันวัตถุที่วางอยู่บนพื้น พบว่า ถ้าแรงกระทำไม่มากพอ วัตถุจะไม่เคลื่อนที่ แต่ถ้าออกแรงกระทำมากพอ วัตถุจะเคลื่อนที่ได้ และเมื่อหยุดออกแรงกระทำต่อวัตถุ วัตถุจะหยุดการเคลื่อนที่ เพราะที่พื้นมีแรงต้านการเคลื่อนที่ของวัตถุกระทำต่อวัตถุ เรียกแรงนี้ว่า แรงเสียดทาน (friction force) สัญลักษณ์ของแรงเสียดทาน ใช้ “f” แรงเสียดทานมี 2 ประเภทคือ แรงเสียดทานสถิต และแรงเสียดทานจลน์ 

ภาพ : shutterstock.com

 

1. แรงเสียดทานสถิต (static friction) เกิดขึ้นจากการที่มีแรงภายนอกกระทำต่อวัตถุ พยายามให้วัตถุนั้นเคลื่อนที่ แต่วัตถุนั้นยังไม่เคลื่อนที่ แรงเสียดทานสถิตมีได้หลายค่าตั้งแต่น้อยที่สุด จนถึงมากที่สุด จะมีค่ามากที่สุด เมื่อวัตถุเริ่มเคลื่อนที่

2. แรงเสียดทานจลน์ (kinetic friction) เป็นแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นเมื่อวัตถุกำลังเคลื่อนที่ มีค่าคงตัวเสมอ

 

ข้อสังเกต

1. ขนาดของแรงเสียดทานจะมีค่ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของมวลวัตถุ และลักษณะของผิวสัมผัส ผิวหยาบจะมีค่าแรงเสียดทานมากกว่าผิวเรียบ

2. สำหรับวัตถุและผิวสัมผัสคู่เดียวกัน แรงเสียดทานสถิตสูงสุด (ตอนวัตถุเริ่มเคลื่อนที่) จะมีค่ามากกว่าแรงเสียดทานจลน์เสมอ

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร