ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 80.1K views



ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน จะมีผลทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ ได้ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ โรคภูมิแพ้ การสร้างภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง โรคเอสแอล อี (SLE) โรคเอดส์ (Aids) โรคลิวคีเมีย (leukemia) เป็นต้น

1. โรคภูมิแพ้

เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อแอนติเจนบางอย่าง เช่น แพ้ละอองเกสรดอกไม้ แพ้อากาศ แพ้อาหารและยา เป็นต้น โดยเมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไปกระตุ้นให้เซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารบางอย่างออกมา ซึ่งเป็นสารก่ออาการแพ้ ทำให้ร่างกายเกิดอาการจาม คัน แดง บวม เป็นผื่น อาการแพ้เหล่านี้มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป แต่หากมีอาการแพ้ง่าย หรือรุนแรงเกินไป จะทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้

ภาพ : shutterstock.com

 

2. การสร้างภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง

เช่น โรคเอสแอลอี (SLE : Systemic Lupus Erythematosus) หรือเรียกอีกชื่อว่า โรคลูปุส (Lupus) หรือโรคพุ่มพวง สาเหตุของโรคมีความหลากหลาย ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เช่น พันธุกรรม ยาบางชนิด การติดเชื้อ โดยจะทำให้เกิดอาการอักเสบของอวัยวะหลายจุด ในกรณีของคนที่ได้รับบริจาคอวัยวะมาจากผู้อื่น อาจมีอาการต่อต้านอวัยวะที่ได้รับมา ทำให้บริเวณนั้นเกิดการอักเสบ และเป็นหนองได้ หรืออาจเป็นความผิดปกติที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านเซลล์ของตนเอง ทำให้เกิดการอักเสบต่ออวัยวะหรือเนื้อเยื่อนั้นๆ

 

3. โรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

หมายถึง กลุ่มอาการของภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด HIV (Human Immunodeficiency Virus) เข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวในร่างกาย จึงมีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อม หรือบกพร่อง ทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย และเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายและรุนแรง

ขณะนี้ยังไม่มียารักษาเอดส์โดยตรง แต่สามารถระงับอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ โดยการกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ไวรัสชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ไขกระดูกและสมอง ถ้าไม่ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี จะเกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว

 

4. โรคลิวคีเมีย หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้มีเม็ดเลือดขาวจำนวนมากกว่าปกติหลายเท่า แต่ทำหน้าที่ไม่ได้ เนื่องจากเซลล์เจริญเติบโตไม่เต็มที่ และต้องแบ่งเซลล์อยู่ตลอดเวลา

ภาพ : shutterstock.com

 

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร