ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 22.3K views



ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่เดียวกัน และยังสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต รวมเรียกว่า ระบบนิเวศ องค์ประกอบที่มีชีวิตในระบบนิเวศได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย

ภาพ : shutterstock.com

 

การสำรวจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น อาจใช้เครื่องมือบางชนิด ได้แก่

1. เทอร์โมมิเตอร์ ใช้วัดอุณหภูมิของน้ำและดิน

2. กระดาษยูนิเวอร์ซัลอินดิเคเตอร์ ใช้วัดค่า pH หรือค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำและดิน

3. เซคคิดิสก์ ใช้วัดความลึกที่แสงสามารถส่องผ่านลงไปในน้ำได้

 

การสำรวจสิ่งแวดล้อมทำได้ดังนี้

1. เลือกพื้นที่ที่สนใจจะศึกษา อาจเป็นพื้นที่บนบกหรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำ

2. กำหนดขอบเขตของบริเวณที่สำรวจ เช่น ประมาณ 10 เมตร x 10 เมตร

3. การสำรวจ ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังนี้

     - สังเกตและบันทึกสภาพแวดล้อมทั่วไปของบริเวณที่สำรวจ ตลอดจนลักษณะทั่วไปอื่นๆ ของพื้นที่
     - ศึกษาองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ ความเป็นกรด-เบส
     - ศึกษาองค์ประกอบที่มีชีวิต โดยบันทึกชื่อ ลักษณะ จำนวน แหล่งที่พบ และสังเกตพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต
     - ศึกษาว่าชุมชนในท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่สำรวจอย่างไร รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์นั้น
     - วิเคราะห์ สรุปผล นำเสนอผลการสำรวจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

 

กลุ่มสิ่งมีชีวิต (community) คือ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

แหล่งที่อยู่ (habitat) คือ บริเวณที่กลุ่มสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ระบบนิเวศ (Ecosystem) คือ ระบบที่กลุ่มสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่เดียวกันมีความสัมพันธ์กัน และมีความสัมพันธ์กับสิ่งไม่มีชีวิตในสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบนิเวศป่าไม้ ระบบนิเวศป่าชายเลน ระบบนิเวศแม่น้ำ

องค์ประกอบที่มีชีวิตของระบบนิเวศ ได้แก่ พืช สัตว์ มนุษย์ จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ

องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิตของระบบนิเวศ ได้แก่ แสงสว่าง ความชื้น อุณหภูมิ อากาศ ดิน น้ำ และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ

องค์ประกอบที่มีชีวิตในระบบนิเวศแบ่งตามบทบาทได้ 3 ชนิดดังนี้

1. ผู้ผลิต (producer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นอาหาร ได้แก่ พืชต่างๆ
2. ผู้บริโภค (consumer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้พลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป ได้แก่ สัตว์ต่างๆ
3. ผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์ (decomposer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ย่อยซากสิ่งมีชีวิตให้เป็นสารที่มีโมเลกุลเล็กแล้วดูดซีมไปใช้เป็นสารอาหารบางส่วน ส่วนที่เหลือจะกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ เห็ด รา แบคทีเรีย

 

ผู้บริโภคแบ่งได้เป็น 3 พวก ดังนี้

1. สิ่งมีชีวิตกินพืช (herbivore) เช่น กระต่าย กวาง ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ
2. สิ่งมีชีวิตกินสัตว์ (carnivore) เช่น กบ ฉลาม เหยี่ยว งู จระเข้ เสือ สิงโตฯลฯ
3. สิ่งมีชีวิตกินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore) เช่น นก ปลา เต่า ลิง คน ฯลฯ

 

สัตว์กินซาก (scavenger) เป็นผู้บริโภคที่กินซากพืชและซากสัตว์ เช่น แร้ง ปู หนอน แมลงวัน กิ้งกือ ไส้เดือนดิน