การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 31K views



ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่างๆ ทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของมนุษย์เอง และยังกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ อีกด้วย การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนต้องตระหนักไว้ เพื่อให้โลกของเราสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ภาพ : shutterstock.com

 

ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resource) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีประโยชน์สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้ หรือมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ดิน น้ำ อากาศ แสงอาทิตย์ ป่าไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรชายฝั่ง พลังงานในรูปแบบต่างๆ เช่น เชื้อเพลิง เป็นต้น

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในทางอุตสาหกรรม สิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์หรือปัจจัยสี่ ก็ได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น

การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่า รวมทั้งระบบการจัดการทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหร่อเสื่อมโทรมลง ส่งผลกระทบด้านลบต่อทั้งคนรุ่นปัจจุบันและในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แนวทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ 3Rs ย่อมาจากคำว่า Reduce Reuse และ Recycle

ภาพ : shutterstock.com

 

1. Reduce หมายถึง การลดการใช้ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือใช้ในปริมาณที่น้อยลง เช่น ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดขยะด้วยการซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ให้ใช้งานได้ต่อไป ใช้ถุงผ้าที่ใช้ซ้ำได้แทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นขยะ

2. Reuse หมายถึง การใช้ซ้ำ เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนกว่าจะหมดสภาพการใช้งาน เช่น การใช้ถุงพลาสติกใส่ของซ้ำจนกว่าจะใช้ต่อไม่ได้แล้ว การนำขวดพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำดื่มมาบรรจุน้ำซ้ำเพื่อบริโภคจนกว่าขวดจะเสื่อมสภาพ การบริจาคเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วให้คนยากจนได้ใส่ต่อ

3. Recycle หมายถึง การนำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำไปแปรสภาพเสียก่อน เช่น การนำขวดพลาสติกไปหลอมแล้วทำเป็นถุงดำ ถังขยะ การนำชิ้นส่วนเครื่องใช้ที่ชำรุดไปแปรสภาพเป็นของใช้อื่นๆ ต่อไป

 

การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว สังคมต้องร่วมรับผิดชอบในการทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคแบบเดิมไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งทำได้ดังนี้

1. เลือกใช้สินค้าฉลากเขียว
2. เลือกใช้สินค้าประหยัดพลังงาน
3. เลือกใช้สินค้าเกษตรอินทรีย์
4. เลือกใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่
5. เลือกใช้สินค้าที่ได้จากการจัดการป่าอย่างยั่งยืน

ภาพ : shutterstock.com

 

สินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีสัญลักษณ์บนกล่อง หีบห่อบรรจุภัณฑ์ หรือบนตัวสินค้า ได้แก่

1. สัญลักษณ์ฉลากเขียว
2. สัญลักษณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5
3. สัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์
4. สัญลักษณ์ผลิตมาจากวัสดุแปรใช้ใหม่
5. สัญลักษณ์ผลิตมาจากป่าปลูก